แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
แม้คำเบิกความของจำเลยในสำนวนจะสูญหาย แต่ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้กล่าวไว้ด้วยว่า จำเลยเบิกความไว้อย่างใด จึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยมาเบิกความใหม่
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2490 มาตรา 3 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งออกไปนอกและการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งสินค้าบางอย่าง พ.ศ. 2482 มาตรา 4 ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งเป็นบทหนัก จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับรวมกันเป็นเงิน 118,580 บาท จำเลยที่ 1 รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 3 เดือน และให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดในการชำระค่าปรับในจำนวนเงิน 59,290 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ทั้งสองคนมีกำหนด 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์คดีเฉพาะตัวจำเลยที่ 2 โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปรากฏว่าคำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเบิกความไว้ในฐานะเป็นพยานของจำเลยที่ 2 ไม่มีอยู่ในสำนวน ศาลชั้นต้นตรวจสอบแล้วให้ความเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 สูญหายและไม่สามารถหาสำเนาได้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จะสูญหายแต่ในคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้กล่าวไว้ด้วยว่าจำเลยที่ 1 เบิกความไว้อย่างใดจึงไม่ต้องมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกจำเลยที่ 1 มาเบิกความใหม่”
พิพากษายืน