คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1984/2524

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้คดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาผิดพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 จะปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้วก็ตาม แต่ก็ปรากฏว่า โจทก์ในคดีนี้มิได้เข้าเป็นคู่ความด้วย ทั้งมิใช่ ผู้เสียหายในคดีดังกล่าว คำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่ ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่รถไฟของโจทก์ชนกับรถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ 1 ขับเป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของทั้งสองฝ่ายไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้างก็ไม่ต้องรับผิดด้วย (อ้างฎีกา 676/2524)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2519 จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกปูนซีเมนต์หมายเลขทะเบียน ล.บ.06521 ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่ 3 เพื่อจะข้ามทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ ตำบลปากเพรียวอำเภอเมืองสระบุรี จากด้านทิศตะวันออกไปด้านทิศตะวันตกด้วยความประมาทโดยขับรถยนต์ไปตามทางซึ่งมิใช่เป็นทางอนุญาตให้รถยนต์แล่นผ่านตรงหลักกิโลเมตรที่ 144 + 117.13 ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถถึงทางรถไฟ จำเลยที่ 1 รู้แล้วว่าเป็นทางรถไฟซึ่งจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่มิได้ใช้ความระมัดระวังยังฝ่าฝืนขับรถยนต์ขึ้นไปบนทางรถไฟ เป็นเหตุให้ล้อหลังติดอยู่ที่รางข้ามไปไม่ได้ ตรงที่เกิดเหตุทางรถไฟเป็นทางโค้ง ในขณะเดียวกันนั้นรถไฟของโจทก์ขบวนที่ 210 แล่นเข้าโค้งมาพนักงานขับรถไฟเห็นรถยนต์ดังกล่าวอยู่บนรางรถไฟแต่เห็นในระยะกระชั้นชิด ไม่สามารถหยุดขบวนรถได้ทันจึงชนกับรถยนต์ดังกล่าว ทำให้รถไฟตกรางไป 3 คัน แล้วครูดทางรถไฟเสียหายโจทก์เสียหายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 566,894.47 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 566,894.47 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 527,373.70 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างและกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน ล.บ.06521 เหตุที่รถไฟชนกับรถยนต์เกิดจากความประมาทของโจทก์ จำเลยที่ 1 ขับรถมาในเวลากลางคืนและเห็นว่าปลอดรถไฟแล้วจึงแล่นรถผ่านทางรถไฟขึ้นไปเพราะไม่เห็นว่า ไม้หมอนได้ถูกรื้อเอาออกแล้วเนื่องจากทางเนินสูง ล้อหน้าผ่านไปได้แต่ล้อหลังติดอยู่ที่ราง เมื่อพนักงานขับรถไฟเห็นรถยนต์ขวางทางข้างหน้าอยู่แต่ไกล หาได้ห้ามล้อแต่แรกเห็นก็สามารถหยุดรถไฟได้ทันที อุบัติเหตุก็จะไม่เกิดขึ้น จึงนับได้ว่าเป็นความประมาทของฝ่ายโจทก์ด้วยค่าเสียหายของโจทก์ไม่มากดังฟ้อง

จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการของจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 3 ได้โอนทะเบียนรถยนต์ให้จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันเงินกู้ เหตุที่รถไฟชนกับรถยนต์เกิดจากความประมาทของฝ่ายโจทก์ ค่าเสียหายของโจทก์ไม่มากดังฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1ด้วย รถยนต์คันเกิดเหตุเป็นของจำเลยที่ 3 เหตุที่รถไฟชนกับรถยนต์เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 โจทก์เสียหายเป็นเงิน 527,343.70 บาท แต่โจทก์มีส่วนผิดอยู่ด้วยที่ไม่เหมือนให้รู้ถึงภัยและปิดป้องมิให้เกิดความเสียหายเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 3 ใน 4 ส่วน ของค่าเสียหายทั้งหมดเป็นเงิน 395,507.25 บาท พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 (ที่ถูกคือจำเลยที่ 3) ร่วมกันใช้เงิน 395,507.25 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 มกราคม 2519 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้อง

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 351,443.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 27 มกราคม 2517 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้คดีอาญาที่จำเลยที่ 1 ถูกฟ้องในข้อหาความผิดตามจราจรทางบก พ.ศ. 2477 ซึ่งพนักงานอัยการจังหวัดสระบุรีเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 จะปรากฏว่าศาลพิพากษายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดก็ตามแต่ก็ปรากฏว่าโจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความด้วย ทั้งมิใช่ผู้เสียหายในดคีดังกล่าวคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว จึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ซึ่งศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ในคดีแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงใหม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีส่วนประมาทเล่นเล่อไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน จำเลยที่ 1และที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย

พิพากษากลับเป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์

Share