คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 455/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายฟ้องคดีและว่าความในศาลชั้นต้นชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา ครั้นโจทก์ฟ้องคดีและว่าความในศาลชั้นต้นไปบ้างแล้ว จำเลยขอถอนโจทก์จากการเป็นทนาย โจทก์แถลงไม่คัดค้านศาลฟังว่าการเลิกสัญญาเกิดจากการตกลงกัน คู่สัญญายังมีสิทธิที่จะได้คืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมโดยวิธีการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 391 วรรค 2,3,4 โดยเฉพาะก็คือ วรรค 3 จำเลยต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานของโจทก์ และต้องคิดค่าจ้างตามรูปคดี หาใช่คิดแต่จำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องไม่
ตัวแทนจ้างโจทก์แทนตัวการ. ตัวการต้องรับผิดต่อโจทก์แต่ผู้เดียวตัวแทนหาต้องรับผิดด้วยไม่

ย่อยาว

ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นตัวแทนจำเลยที่ 1ได้จ้างโจทก์เป็นทนายฟ้องคดีและว่าความ 3 เรื่องจนถึงที่สุดแต่คดีเสร็จไปเรื่องเดียว คือคดีดำที่ 7/2502 ส่วนคดีดำที่ 67/2501 สืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายสืบก่อนได้ 4-5 ปาก จำเลยที่ 2 ก็ขอถอนโจทก์จากการเป็นทนาย โจทก์แถลงไม่คัดค้าน และคดีดำที่ 11/2502 ยังไม่ได้สืบพยาน โจทก์ก็ขอถอนตัวเองจากการเป็นทนาย

คดีดำที่ 67/2501 นั้น ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยได้ตกลงจ้างโจทก์ว่าความ 3 ศาลถึงศาลสูงสุดเป็นเงิน 10,000 บาท ควรเฉลี่ยศาลละ 3,000 บาท เมื่อโจทก์ได้ดำเนินคดีไปบ้างแล้วและถูกถอนโดยไม่ปรากฏว่าเป็นความผิดของโจทก์ โจทก์ควรได้ค่าจ้างสำหรับศาลชั้นต้นจำเลยชำระให้โจทก์แล้ว1,400 บาท โจทก์ควรได้ค่าจ้างอีก 1,600 บาท

โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์ เฉพาะในข้อนี้ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 2 ขอถอนโจทก์จากการเป็นทนายโดยไม่บอกกล่าวและไม่ได้รับความยินยอมเห็นชอบจากโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์อันควรได้จากสัญญาเป็นเงิน 10,000 บาท จำเลยไม่เสียค่าสินไหมทดแทนให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 605 โจทก์จะต้องได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน 10,000 บาท ตามฎีกาที่ 173/2488, 932/2490

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การถอนตัวจากการเป็นทนาย คู่กรณีได้ตกลงเลิกสัญญาจ้างว่าความกันแล้ว เพราะการที่ไม่ทำหน้าที่ทนายต่อไปหมายถึงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างว่าความ โจทก์ได้ยินยอมให้จำเลยที่ 2 ถอนได้ และโจทก์เองก็ถอนตัวจากอีกคดีหนึ่งฟังได้ว่าเกิดจากการตกลงกัน เมื่อเลิกสัญญากันแล้ว คู่สัญญายังมีสิทธิที่จะได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมโดยวิธีการในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรค 2, 3, 4 โดยเฉพาะก็คือ ที่บัญญัติไว้ในวรรค 3 หาใช่ว่าสิทธิหน้าที่ของคู่สัญญาระงับไปจนถึงกับไม่ต้องปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้นี้ไม่ คดีนี้ โจทก์ได้ฟ้องและว่าความให้จำเลยบ้างแล้ว จำเลยต้องใช้เงินตามควรค่าแห่งการงานของโจทก์ การที่จะรู้ถึงค่าแห่งการงาน จำเป็นต้องพิเคราะห์ถึงข้อตกลงว่า การงานทั้งหมดที่ว่าจ้างกันเป็นมูลค่าอย่างไร จึงจะวินิจฉัยถึงค่าของส่วนที่ได้ทำไปบ้างแล้วได้ คดีฟังได้ว่าคดีดำที่ 67/2501 ตกลงจ้างกัน 10,000 บาท โจทก์ทำงานให้จำเลยบางส่วนต้องคิดค่าจ้างตามรูปคดี หาใช่คิดแต่จำนวนค่าเสียหายที่เรียกร้องไม่ที่ศาลชั้นต้นคำนวณค่าแห่งการงานของโจทก์เป็นจำนวน 3,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฯลฯ

จำเลยที่ 2 เป็นผู้จ้างโจทก์แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ก็รับแล้วว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนจ้างโจทก์จริง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินรายนี้แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 หาต้องรับผิดชำระไม่

Share