คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4525/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายกับความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ จะต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนความผิดสองฐานนี้ โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์จากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี และศาลอุทธรณ์รับพิจารณาพิพากษาต่อมาอันเป็นการไม่ชอบก็ตาม แต่พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในความผิดฐานมีและพาอาวุธปืนครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว โดยเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้ายในคดีนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงความผิดดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 295, 371, 392 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371, 392 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 15 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งทุกกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญจำคุก 10 วัน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 18 เดือน 10 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 6 จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน และขั้นสูงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โดยให้ฝึกวิชาชีพอย่างน้อย 2 วิชาชีพ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง เวลาประมาณ 21 นาฬิกา นางสาวเพชรทิวา ผู้เสียหาย ไปนั่งรับประทานไอศกรีมที่ตลาดริมแม่น้ำเจ้าพระยากับนางสาวศจีและนางสาวพรทิพย์ จากนั้นผู้เสียหาย นางสาวศจีและนางสาวพรทิพย์ ขับรถจักรยานยนต์ไปจอดที่ริมถนนบริเวณตลาดร้านขายเสื้อผ้าริมแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ไกลจากร้านขายไอศกรีมแล้วพากันเดินในตลาดดังกล่าว ระหว่างที่เดินอยู่นั้นมีชายคนร้ายซึ่งใส่เสื้อสีชมพูเข้ามาต่อยผู้เสียหายที่แก้มซ้ายทางด้านหลัง 1 ที เมื่อผู้เสียหายหันไปดูก็ถูกคนร้ายนั้นต่อยที่ใบหน้าด้านซ้ายและปากอีก 2 ถึง 3 ที นางสาวศจีถามคนร้ายว่า “ต่อยเพื่อนหนูทำไม” คนร้ายก็ล้วงอาวุธปืนพก 1 กระบอก ออกจากขอบกางเกงด้านหน้าออกมาเล็งผู้เสียหายกับพวกในลักษณะส่ายไปมาพร้อมพูดว่า “หรือมึงจะเอา” ผู้เสียหายกับพวกจึงยืนนิ่งเฉยด้วยความกลัว ต่อจากนั้นคนร้ายก็เดินย้อนกลับไปทางเดิม ผู้เสียหายกับพวกเดินตามไปดูแต่คนร้ายหันกลับมาเห็นจึงเดินเข้ามาต่อยผู้เสียหายอีก 1 ที แล้วคนร้ายชักอาวุธปืนพกชี้ผู้เสียหายกับพวกและพูดว่า “พวกมึงจำหน้ากูไว้” หลังจากนั้นคนร้ายเดินไปนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ด้านหลังสุดซึ่งมีชาย 2 คน นั่งคร่อมรถรออยู่ขับออกไป วันดังกล่าวนางลัดดา มารดาของผู้เสียหายพาผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อร้อยตำรวจเอกธีรวุฒิ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ร้อยตำรวจเอกธีรวุฒิถ่ายรูปใบหน้าผู้เสียหายไว้ แล้วส่งผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ แพทย์ทำรายการที่ตรวจและมีความเห็นว่าบาดแผลฟกช้ำที่ริมฝีปากกับโหนกแก้มด้านซ้ายของผู้เสียหายน่าจะหายภายในเวลา 7 ถึง 10 วัน หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน ในวันเดียวกันร้อยตำรวจเอกธีรวุฒิไปตรวจสถานที่เกิดเหตุแล้วทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุกับทำบันทึกการตรวจสถานที่เกิดเหตุคดีอาญาเป็นหลักฐานไว้ ต่อมาวันที่ 16 สิงหาคม 2553 จำเลยถูกจับกุมตามหมายจับในเหตุคดีนี้ เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่า ร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญ ร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยให้การปฏิเสธ ชั้นสอบสวนพันตำรวจโทประสาร ผู้รับมอบสำนวนสอบสวนต่อจากร้อยตำรวจเอกธีรวุฒิ แจ้งข้อหาเช่นเดียวกับชั้นจับกุมแก่จำเลย จำเลยให้การปฏิเสธ จำเลยไม่เคยได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืนมาก่อน สำหรับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือตกใจโดยการขู่เข็ญ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 392 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิด 2 ฐานดังกล่าวศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยเป็นการส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมยังศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยในส่วนความผิด 2 ฐานนี้ โดยไม่ปรากฏว่าได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์จากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาตามมาตรา 193 ตรี และศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาต่อมาจึงเป็นการไม่ชอบ ซึ่งต้องถือว่าผลคดีในความผิด 2 ฐานที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เพียงไร เห็นว่า ในเหตุที่ผู้เสียหายเคยเห็นจำเลยมาก่อนเกิดเหตุ และบริเวณที่ผู้เสียหายเห็นจำเลยในวันเกิดเหตุอยู่ในบริเวณตลาดซึ่งมีแสงสว่างจากไฟฟ้าที่ร้านค้าริมถนน ทั้งหลังเกิดเหตุผู้เสียหายก็ยืนยันต่อนางลัดดาและพนักงานสอบสวนในวันเดียวกันว่าจำหน้าจำเลยได้ กรณีจึงน่าเชื่อว่าผู้เสียหายเห็นจำเลยในบริเวณที่เกิดเหตุจริงตามเหตุผลที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยไว้ค่อนข้างละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดจากพยานโจทก์ว่าจำเลยคบคิดกับคนร้ายจะมาทำร้ายและใช้อาวุธปืนขู่เข็ญผู้เสียหายในที่เกิดเหตุ การที่คนร้ายยืนอยู่ข้างรถจักรยานยนต์คันที่จำเลยกับชายผู้ขับนั่งอยู่ห่างจากร้านขายไอศกรีมประมาณ 5 เมตร ก็ไม่อาจอนุมานได้แน่นอนว่าจำเลยกับคนร้ายมาด้วยกันเพราะคนร้ายอาจมาหาจำเลยที่บริเวณนั้นโดยบังเอิญก็เป็นไปได้ ซึ่งผู้เสียหายเองก็ไม่ทราบสาเหตุที่ถูกคนร้ายต่อยและชักอาวุธปืนพกออกขู่เนื่องจากไม่เคยรู้จักคนร้ายมาก่อน ส่วนจำเลยนั้นไม่เคยมีเหตุโกรธเคืองกันโดยปรากฏจากคำเบิกความของผู้เสียหายตอบที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามค้านว่า ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายเคยเห็นจำเลยที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนมาเพียงครั้งเดียว พฤติการณ์ที่คนร้ายชักอาวุธปืนพกออกจากขอบกางเกงด้านหน้าในครั้งแรกมาถือส่ายไปมาพร้อมพูดว่า “หรือมึงจะเอา” นั้น เป็นเพราะนางสาวศจีถามคนร้ายว่าต่อยผู้เสียหายด้วยเรื่องอะไร และที่คนร้ายชักอาวุธปืนพกมาชี้ผู้เสียหายกับพวกในครั้งหลังพร้อมพูดว่า “พวกมึงจำหน้ากูไว้” ก็เป็นเพราะเมื่อผู้เสียหายถูกทำร้ายในครั้งแรกแล้วผู้เสียหายกับพวกยังเดินติดตามคนร้ายไป ข้อเท็จจริงเป็นเรื่องที่คนร้ายมิได้มุ่งประสงค์จะใช้อาวุธปืนดังกล่าวมาขู่เข็ญผู้เสียหายตั้งแต่แรก ฉะนั้นก่อนเกิดเหตุจำเลยอาจมิได้ล่วงรู้ว่าคนร้ายมีอาวุธปืนพกติดตัวมาด้วยก็เป็นไปได้ อีกทั้งตามคำเบิกความของผู้เสียหายและนางสาวพรทิพย์ตลอดจนข้อความตามบันทึกคำให้การของผู้ร้อง ผู้กล่าวโทษหรือพยานเอกสารก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ารถจักรยานยนต์ที่จำเลยนั่งซ้อนท้ายชายผู้ขับซึ่งจอดอยู่ห่างจากจุดที่ผู้เสียหายถูกคนร้ายต่อยในครั้งแรกประมาณ 8 เมตร นั้น ได้ติดเครื่องอยู่ในลักษณะพร้อมจะเข้าช่วยเหลือคนร้ายหรือพาคนร้ายหนีทุกเมื่อมีเหตุขัดข้องในการกระทำผิดแก่ผู้เสียหาย ประกอบกับจำเลยให้การปฏิเสธตลอดมาตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณา ดังนี้ลำพังข้อเท็จจริงที่จำเลยเป็นผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ตรงกลางระหว่างคนขับกับคนร้ายขับออกจากบริเวณที่เกิดเหตุไปหลังจากคนร้ายกระทำผิดแก่ผู้เสียหายยังถือไม่ได้ว่าจำเลยกับคนร้ายรู้การกระทำซึ่งกันและกันโดยประสงค์จะถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏมิใช่เรื่องตัวการที่ร่วมกระทำความผิดด้วยกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำตามที่โจทก์อ้างในฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยถึงพยานจำเลย จำเลยไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาต อนึ่ง แม้กระทงความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายกับกระทงความผิดฐานร่วมกันทำให้ผู้อื่นเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญจะต้องห้ามมิให้จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์ภาค 6 รับพิจารณาพิพากษาต่อมาอันเป็นการไม่ชอบ ดังที่วินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น แต่เมื่อพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาครอบคลุมถึงข้อเท็จจริงในความผิดทั้ง 2 ฐาน ดังกล่าวด้วย โดยเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้ายในเหตุคดีนี้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยยกฟ้องไปถึงได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share