แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่ง พ.ร.ฎ.กำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ “ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” โดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ
ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎร ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 การครองครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ของ ส. จึงเป็นการครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่ขึ้นในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคสอง
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4, 5, 6, 7, 11, 69, 73, 74 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2, 33, 83, 91 ริบไม้แดงและไม้ประดู่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบไม้แดงและไม้ประดู่ของกลางนั้น ศาลมีคำพิพากษาห้ริบในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1103/2559 ของศาลชั้นต้นแล้ว จึงยกคำขอริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีสิ่งแวดล้อมพิพากษาแก้เป็นว่า ฐานร่วมกันทำไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีสิ่งแวดล้อมวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมบริเวณที่ดินที่เกิดเหตุเป็นป่าลำน้ำน่านฝั่งขวาตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 ต่อมามีกฎกระทรวง ฉบับที่ 862 (พ.ศ.2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2522 ประกาศกำหนดให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ และมีการจัดตั้งเป็นนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่านมาตั้งแต่ปี 2507 ต่อมาปี 2511 ถึง 2512 มีการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบมาจากการก่อสร้างเขื่อนสิริกิติ์มาอยู่ในบริเวณนิคมตามที่ได้จัดสรรที่ดิน ซึ่งมีนางสมพร รวมอยู่ด้วย และเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ตั้งแต่ปี 2539 และได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) จากนิคมสร้างตนเองลำน้ำน่าน จำนวน 3 แปลง เพื่อเข้าครอบครองทำประโยชน์ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 และในปี 2512 นางสมพรกับสามีได้ร่วมกันปลูกต้นไม้แดงและต้นไม้ประดู่ของกลางบริเวณสวนหลังบ้านในที่ดิน 3 แปลง ที่ได้รับการจัดสรรดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2557 นางสมพรได้ขายต้นไม้แดงและไม้ประดู่รวม 7 ต้น ให้แก่จำเลยในราคา 30,000 บาท ต่อมาปลายเดือนมีนาคม 2557 จำเลยจ้างนายรีกิจ ตัดไม้ดังกล่าวมากองไว้ที่ถนนตรงข้ามบ้านนางสมพร เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 เจ้าพนักงานตรวจยึดไม้ประดู่ 49 ท่อน และไม้แดง 4 ท่อน รวมไม้จำนวน 53 ท่อน ปริมาตร 11.07 ลูกบาศก์เมตร ดังกล่าวเป็นของกลาง ซึ่งมีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้แดงและไม้ประดู่ในท้องที่ทุกจังหวัดเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้หวงห้ามธรรมดา ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว อันดับที่ 58 และ 87 ตามลำดับ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ไม้แดงและไม้ประดู่ของกลางเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ที่ดินที่เกิดเหตุไม่ใช่ป่า ไม้ประดู่และไม้แดงของกลางจึงมิใช่ไม้หวงห้าม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดนั้น ขณะเกิดเหตุและขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง ตอนท้าย กำหนดให้ไม้หวงห้ามตามพระราชกฤษฎีกาที่ขึ้นอยู่ในป่าเป็นไม้หวงห้าม ซึ่งพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ.2530 กำหนดให้ไม้ประดู่และไม้แดงเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ตามบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา อันดับที่ 58 และ 87 การทำไม้หวงห้ามดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตและมีไม้หวงห้ามดังกล่าวอันยังมิได้แปรรูปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง, 69 วรรคสอง (2) (เดิม), 73 วรรคสอง (2) (เดิม) ตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัย แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 มีผลใช้บังคับวันที่ 17 เมษายน 2562 ให้ยกเลิกมาตรา 7 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 และกำหนดให้ “ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม” โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ.2562 ตราขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้การทำไม้และการเคลื่อนย้ายไม้นั้น เป็นไปได้โดยสะดวกไม่เกิดภาระแก่ประชาชน ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้และการบริหารจัดการด้านการป่าไม้ให้มีประสิทธิภาพ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ไม้ของกลางเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า นางสมพรมีสิทธิครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินที่เกิดเหตุตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ออกตามความในพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งออกโดยอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ รวม 3 แปลง และสามารถนำที่ดินดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่สำนักงานที่ดินได้ตามกฎหมาย นางสมพรปลูกไม้ประดู่และไม้แดงลงบนที่ดินดังกล่าว แล้วต่อมาขายต้นไม้ดังกล่าวให้จำเลยในราคา 30,000 บาท เมื่อปี 2556 นางสมพรนำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ดังกล่าวไปขอออกโฉนดที่ดินแล้ว อยู่ระหว่างการนัดรังวัด เห็นว่า ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎรตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า 5 ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) ดังกล่าวสามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคสอง ซึ่งประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่า ต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ประกอบมาตรา 58 ทวิ หรือมาตรา 59 แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 (พ.ศ.2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 นางสมพรครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.3) จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้ว ไม้ประดู่และไม้แดงที่นางสมพรปลูกในที่ดินดังกล่าว จึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้ามตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 วรรคสอง จึงต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไป
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ คืนของกลางแก่เจ้าของ