คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4517/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2531และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 เป็นการที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถาม ไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันแล้ว แม้หนังสือทวงถามครั้งที่สามและครั้งที่สี่ที่โจทก์ส่งให้จำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 จะเป็นการส่งโดย ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยได้ย้ายออกไปจากบ้านที่ได้ส่งหนังสือแล้ว และมีระยะเวลาห่างจากการส่งหนังสือทวงถามในครั้งแรกและครั้งที่สองเป็นเวลาเกือบ 9 ปี ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น แต่อย่างใด กรณีถือได้ว่าจำเลยต้องข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยไม่ชำระหนี้ภาษีอากรรวมเป็นเงิน 66,558 บาท ภายในกำหนด และมิได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรดังกล่าวจึงเด็ดขาด โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว 4 ครั้ง ระยะเวลาห่างกันเกินกว่า 30 วัน แต่จำเลยไม่ชำระและจำเลยไม่มีทรัพย์สินใดที่จะพึงยึดมาชำระหนี้ได้ พฤติการณ์ของจำเลยเข้าข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย

จำเลยไม่ยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “การที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2531 และวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 นั้นเป็นการที่จำเลยได้รับหนังสือทวงถามไม่น้อยกว่าสองครั้งซึ่งมีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่าสามสิบวันแล้ว เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์กรณีจึงเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 8(9) แม้หนังสือทวงถามครั้งที่สามและครั้งที่สี่ที่โจทก์ส่งให้จำเลยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2540 และวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 จะเป็นการส่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยได้ย้ายออกไปจากบ้านที่ได้ส่งหนังสือแล้ว และมีระยะเวลาห่างจากการส่งหนังสือทวงถามในครั้งแรกและครั้งที่สองกับห่างจากการตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยเป็นเวลาเกือบ 9 ปีก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่แสดงให้เห็นว่า จำเลยมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดประกอบกับปรากฏจากบันทึกการเร่งรัดหนี้ เอกสารหมาย จ.10 ว่า จำเลยยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ 68,558 บาท จริงและขอผ่อนชำระเดือนละ 2,000 บาท ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 และภายในสิ้นเดือนของเดือนถัดไป แต่จำเลยก็ชำระให้โจทก์เพียงครั้งเดียวในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2532 ดังที่ปรากฏในเอกสารหมาย จ.1 หลังจากนั้นจำเลยไม่ชำระให้โจทก์อีก การที่โจทก์ปล่อยเวลาให้ล่วงเลยมาถึง 9 ปี จึงได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้อีกนั้น เป็นการแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้ผ่อนผันและให้โอกาสจำเลยจนถึงที่สุดแล้วเมื่อคำนึงถึงหนี้ที่จำเลยค้างชำระเป็นหนี้ค่าภาษีอากรที่จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระประกอบกับปรากฏจากสำเนาทะเบียนบ้าน ที่โจทก์ส่งตามคำแถลงลงวันที่ 2 เมษายน 2541 ว่า จำเลยถูกย้ายออกไปอยู่ในทะเบียนบ้านกลางเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2534 อันเป็นการแสดงให้เห็นว่า จำเลยออกจากบ้านที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านไปอยู่ที่อื่นเกินหนึ่งร้อยแปดสิบวันโดยเจ้าบ้านไม่ทราบว่าไปอยู่ที่ใดตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 มาตรา 33 และเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่มีที่อยู่และประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งอันจะมีรายได้ชำระหนี้ให้โจทก์ กรณีจึงฟังได้ว่า จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและไม่มีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น”

พิพากษากลับ ให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14

Share