คำสั่งคำร้องที่ 1889/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่าเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดยอุทธรณ์ข้อ 2.1 เป็นปัญหาว่า จำเลยที่ 12ที่ 13 ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงที่ต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงานหรือไม่ และอุทธรณ์ข้อ 2.2 เป็นปัญหาในการตีความพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 121 ว่า การที่จำเลยที่ 12ที่ 13 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 จะมีอำนาจสั่งให้จ่ายค่าเสียหายได้หรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ด้วย
หมายเหตุ จำเลยทั้งสิบสามได้รับสำเนาคำร้องแล้วเฉพาะจำเลยที่ 12 ที่ 13 แถลงคัดค้าน (อันดับ 94,95,96)
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 11 ที่ 36/2531 ให้จำเลยที่ 12รับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 และจำเลยที่ 13 รับโจทก์ที่ 5 ถึงที่ 9กลับเข้าทำงานและจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ดังกล่าวนับจากวันเลิกจ้างจนกว่าจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากโจทก์ไม่สามารถทำงานร่วมกันจำเลยที่ 12 และที่ 13 ให้จำเลยที่ 12และที่ 13 จ่ายค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย ฯลฯ นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1ถึงจำเลยที่ 11 ให้จำเลยที่ 12 จ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1จำนวน 8,200 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 12,500 บาท โจทก์ที่ 3จำนวน 46,000 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 45,500 บาท และให้จำเลยที่ 13 จ่ายค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 5 จำนวน 41,400 บาทโจทก์ที่ 6 จำนวน 43,900 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 38,800 บาทโจทก์ที่ 8 จำนวน 65,400 บาท และโจทก์ที่ 9 จำนวน 58,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินของโจทก์แต่ละคนดังกล่าวนับจากวันฟ้อง (วันที่ 2 พฤศจิกายน 2531)จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ทั้งเก้า คำขอของโจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 9 นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 91)
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 9 จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 92)

คำสั่ง
อุทธรณ์ข้อแรกของโจทก์ทั้งเก้าคนที่ว่า การที่จำเลยที่ 12, ที่ 13 ได้ตกลงรับโจทก์ทั้งเก้าคนและลูกจ้างทุกคนที่นัดหยุดงานกลับเข้าทำงาน แต่เมื่อโจทก์ทุกคนและลูกจ้างอื่นไปรายงานตัว จำเลยที่ 12 ที่ 13 มิได้ปฏิบัติตามข้อตกลงโดยไม่ยอมมอบหมายหน้าที่การงานให้ทำและเลิกจ้างโจทก์ทั้งเก้าคนพร้อมทั้งพนักงานอื่นที่นัดหยุดงาน เป็นการกระทำที่ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงอันเป็นมูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 12 ที่ 13ซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ทั้งเก้าคนซึ่งเป็นลูกจ้าง สืบเนื่องจากข้อพิพาทแรงงานนั้น ปรากฏว่าในชั้นพิจารณาของศาลแรงงานกลางศาลแรงงานกลางหาได้หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยไว้แต่ประการใดไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งเก้าคนจึงเป็นการอุทธรณ์นอกเหนือคำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลาง ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54ส่วนอุทธรณ์ข้อสองของโจทก์ที่ว่า จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า จำเลยที่ 12 ที่ 13 เห็นว่าพนักงานมีความเห็นแตกแยกเป็น 2 กลุ่ม ถ้าทำงานด้วยกันอาจก่อให้เกิดความระส่ำระสาย หรืออาจเกิดความไม่สงบนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยคาดคิดไปเอง ไม่ใช่เป็นความผิดหรือเป็นผลจากการกระทำของโจทก์ทั้งเก้าคน จึงขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 12,ที่ 13 รับโจทก์ทั้งเก้าคนกลับเข้าทำงาน เห็นว่าอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งเก้าคนเป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางที่ฟังว่า เนื่องจากจำเลยที่ 12 ที่ 13 ไม่ไว้วางใจโจทก์ทั้งเก้าคนเพราะตามพฤติการณ์ระหว่างที่พนักงานชุมนุมนัดหยุดงานมีการทำลายทรัพย์สินของจำเลยที่ 12 ที่ 13 หากจะให้จำเลยที่ 12 ที่ 13รับโจทก์ทั้งเก้าคนกลับเข้าทำงานต่อไปจะไม่เป็นผลดีแก่ระบบการผลิตของจำเลยที่ 12 ที่ 13 จึงไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 12ที่ 13 จะต้องรับโจทก์ทุกคนกลับเข้าทำงาน อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์เช่นกันศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share