คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 933/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ข่าวมีลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6) นั้นหมายถึงข่าวคราวที่มีลักษณะอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัว หาใช่ข่าวที่เพียงอาจทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือหวาดกลัวไม่
การที่จำเลยได้พิมพ์และโฆษณาข้อความโดยพิมพ์พาดหัวหนังสือพิมพ์ประจำวันของจำเลยว่า “ห่วงหลุด เสียเงินหมื่นเลือดไหลไม่หยุด เจ็บปวดทรมาน” ภายในเนื้อข่าวเป็นเรื่องราวของนาง ว. เรื่องได้รับการใส่ห่วงยางเพื่อคุมกำเนิดจากโรงพยาบาลอ. เมื่อกลับมาบ้านแล้วรู้สึกเจ็บปวด เลือดไหลอยู่ 4 วัน ครั้นเลือดหยุดก็ยังมีอาการปวดอยู่ นาง ว. ต้องไปผ่าตัดโรงพยาบาลอื่น และต้องเสียค่ารักษาพยาบาลถึง14,000 บาท ดังนี้เป็นข่าวอยู่ในวงเฉพาะของสตรีที่มีสามีแล้ว และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ เท่านั้น ซึ่งหาใช่ข่าวที่อาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจ วิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวไม่ จึงไม่เป็นความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการและเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อ “ทันข่าว” ซึ่งเผยแพร่ในจังหวัดอุตรดิตถ์ได้พิมพ์โฆษณาข้อความโดยการพาดหัวหนังสือพิมพ์ทันข่าวปีที่ 3ฉบับที่ 64 ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2524 ว่า “ห่วงหลุด ! เสียเงินหมื่น เลือดไหลไม่หยุด เจ็บปวดทรมาน” อันเป็นการพาดหัวในลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจ หรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวต่อการใส่ห่วงคุมกำเนิด ขอให้ลงโทษตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519ข้อ 2(6), 5 นับโทษจำเลยติดต่อกับโทษของจำเลยในคดีหมายเลขดำที่763-767/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 368/2528, 618/2528, 677/2528ของศาลชั้นต้น และคดีหมายเลขดำที่ 1/2527 ของศาลมณฑลทหารบกที่ 7(ศาลจังหวัดอุตรดิตถ์)
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ลงวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2519ข้อ 2 และข้อ 5 วางโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 2 ปี หากไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ยกคำขอนับโทษต่อของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่า วันเกิดเหตุตามฟ้องจำเลยในฐานะผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ชื่อ “ทันข่าว” ได้พิมพ์และโฆษณาข้อความโดยพิมพ์พาดหัวหนังสือพิมพ์ประจำวันดังกล่าวว่า “ห่วงหลุด เสียเงินหมื่น เลือดไหลไม่หยุดเจ็บปวดทรมาน” ภายในเนื้อข่าวเป็นเรื่องราวนางวันทอง คำอาจ ซึ่งได้รับการใส่ห่วงยางเพื่อคุมกำเนิดแบบชั่วคราว จากโรงพยาบาลอุตรดิตถ์แต่เมื่อกลับมาบ้านแล้วรู้สึกเจ็บปวด เลือดไหลอยู่ 4 วัน เมื่อเลือดหยุดก็มีอาการปวดอยู่ทางโรงพยาบาลอุตรดิตถ์แจ้งว่าถ้าจะเอาห่วงออกต้องจ่ายเงิน 300 บาท นางวันทองต้องไปผ่าตัดถึงโรงพยาบาลแพร่คริสเตียน จังหวัดแพร่ และต้องเสียเงินค่ารักษาถึง 14,000 บาทมีปัญหาว่าข้อความดังกล่าวเป็นข้อความซึ่งเป็นความเท็จหรือมีลักษณะที่อาจทำให้ประชาชนตื่นตกใจ หรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวอันจะเป็นความผิดตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่42 ข้อ 2(6),ข้อ 5 ดังที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ ได้ความจากนางวันทอง คำอาจ พยานโจทก์ว่า นางวันทองได้ไปใส่ห่วงเพื่อคุมกำเนิดที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์แล้วเกิดเลือดตกถึง 4 วันจริง หลังจากนั้นก็มีอาการปวดท้อง และนางวันทองทราบจากแพทย์ที่คลีนิคแห่งหนึ่งว่านางท้องจึงไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ แพทย์ว่าจะทำแท้งให้และจะผ่า แต่แล้วก็ไม่ได้ผ่า จึงได้ไปให้แพทย์ที่โรงพยาบาลแพร่คริสเตียนเอกซเรย์แล้วพบว่า ห่วงที่ใส่ไว้หลุดไปอยู่ที่ปีกมดลูกด้านซ้าย จนต้องทำการผ่าตัดและเสียค่าใช้จ่ายไปจริง แสดงว่าการใส่ห่วงของนางวันทองมีการผิดปกติ ซึ่งนายแพทย์ชำนาญ ภู่เอี่ยมรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ และหัวหน้าแผนกสูตินารีเวชกรรมและวางแผนครอบครัว พยานโจทก์ก็ได้เบิกความยอมรับว่าในการใส่ห่วงเพื่อทำหมันนั้น ได้ทำไป 10,000 คนเศษพบว่ามีห่วงหลุด 16 ราย และมีการตกเลือดกะปริดกะปรอยด้วยแสดงว่าข้อความตามข่าวหาใช่ความเท็จหรือมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงดังที่โจทก์ฎีกาไม่
คงมีปัญหาประการต่อมาว่า ข้อความที่จำเลยลงข่าวมีลักษณะอาจทำให้ประชาชนเกิดความตื่นตกใจ หรือวิตกกังวลหรือเกิดความหวาดกลัวตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 42 ข้อ 2(6) หรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่าความหมายของคำสั่งดังกล่าว หมายถึงข่าวคราวที่มีลักษณะอาจทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความตื่นตกใจ วิตกกังวลหรือเกิดความกลัว หาใช่ข่าวที่เพียงอาจทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่งเกิดความตื่นตกใจหรือวิตกกังวลหรือหวาดกลัวดังเช่นที่อาจเกิดในคดีนี้ไม่ ซึ่งมีลักษณะเป็นข่าวอยู่ในวงเฉพาะของสตรีที่มีสามีแล้ว และอยู่ในวัยเจริญพันธุ์เท่านั้นและความตื่นตกใจวิตกกังวลหรือหวาดกลัวตามความหมายของคำสั่งฉบับนี้ก็น่าจะมุ่งหมายทำนองเดียวกับความรู้สึกต่อข่าวคราวซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมืองมากกว่า ดังจะเห็นได้จากข้อความต่อไปของข้อ 2(6) ที่ว่า “หรือข้อความในลักษณะซึ่งเป็นการปลุกปั่นหรือยุยงให้เกิดความไม่สงบหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือข้อความทำนายในทางที่อาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลแก่ประชาชนในโชคชะตาของบ้านเมือง” หาใช่ข่าวเกี่ยวกับการใส่ห่วงดังเช่นคดีนี้ไม่ นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังปรากฏด้วยว่า บรรดาสตรีที่จะทำการใส่ห่วงเพื่อคุมกำเนิดหาได้มีความรู้สึกต่อข่าวดังกล่าวไม่ ดังจะเห็นได้จากข่าวสารแจกสื่อมวลชนของสำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งแจ้งข่าวว่าเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2528ได้มีการรณรงค์วางแผนครอบครัวของจังหวัดอุตรดิตถ์ ปรากฏว่ามีสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่สมรสแล้วของจังหวัดอุตรดิตถ์มาเข้ารับบริการในการใส่ห่วงอนามัยถึง 1,100 ราย ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 กรณีของจำเลยจึงหาเป็นความผิดดังโจทก์ฎีกาไม่…”
พิพากษายืน

Share