คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6754/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.รัษฎากร มาตรา 83/10 (1) บัญญัติให้กรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้าเพื่อกรมสรรพากรโจทก์ที่ 2 และมาตรา 4 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินได้ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวงการคลัง แต่งตั้งให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออก ตามประกาศลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 ส. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ที่ 1 จึงมีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
กะปิที่จำเลยที่ 1 นำเข้าไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า จึงไม่ใช่กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณจำนวนอากรผิด สิทธิเรียกร้องเงินอากรขาเข้าของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้มีอายุความ 2 ปี ในกรณีคำนวณจำนวนเงินอากรผิด แต่มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรจำนวน 26,799,055 บาท พร้อมเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแต่ละใบขนนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินอากรขาเข้า อากรพิเศษ ภาษีมูลค่าเพิ่ม และเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมเป็นเงิน 23,260,510 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง กับให้ชำระเงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,384 บาท ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 5801 0042 0699 ของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,384 บาท ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 5801 0042 0809 ของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 1,611 บาท ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 5801 0042 0956 และของต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม 2,338 บาท ตามใบขนสินค้าขาเข้าเลขที่ 5801 0082 1394 นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่เงินเพิ่มดังกล่าวเมื่อรวมกับเงินเพิ่มที่คำนวณถึงวันฟ้องแล้ว มิให้เกินกว่าต้นเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระตามใบขนสินค้าขาเข้าแต่ละฉบับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามจำนวนทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยทั้งสอง มีว่าเจ้าพนักงานของโจทก์ที่ 1 มีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 83/10 (1) บัญญัติให้กรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้าเพื่อกรมสรรพากรโจทก์ที่ 2 และมาตรา 4 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจแต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินได้ ทางนำสืบของโจทก์โดยจำเลยทั้งสองไม่โต้แย้งได้ความว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกประกาศแต่งตั้งให้ข้าราชการในสังกัดโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานประเมินในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับสินค้าที่นำเข้าหรือส่งออกตามประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 24) เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2534 เอกสารหมาย จ.28 เมื่อนายสมบัติ นายด่านศุลกากรสะเดา เป็นข้าราชการในสังกัดโจทก์ที่ 1 นายสมบัติจึงมีอำนาจประเมินให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามฟ้อง
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อต่อไปของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคสาม บัญญัติว่า “เว้นแต่ในกรณีที่มีการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงอากร สิทธิของกรมศุลกากรที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดเพราะเหตุอันเกี่ยวกับชนิด คุณภาพ ปริมาณ น้ำหนัก หรือราคาแห่งของใดๆ หรือเกี่ยวกับอัตราอากรสำหรับของใดๆ นั้น ให้มีอายุความสิบปี แต่ในเหตุที่ได้คำนวณจำนวนเงินอากรผิดให้มีอายุความสองปี ทั้งนี้นับจากวันที่นำของเข้าหรือส่งของออก” กะปิที่จำเลยที่ 1 นำเข้าไม่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้า จึงไม่ใช่กรณีพนักงานเจ้าหน้าที่คำนวณจำนวนอากรผิด สิทธิเรียกร้องเงินอากรขาเข้าของโจทก์ที่ 1 จึงไม่ได้มีอายุความ 2 ปี แต่มีอายุความ 10 ปี นับจากวันที่นำของเข้า เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 นำเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้า 752 ฉบับ จนถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปีฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองต้องรับผิดชำระเงินค่าภาษีอากรให้โจทก์ทั้งสองหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อการประเมินอากรขาเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่มชอบด้วยกฎหมาย และฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันชำระเงินค่าภาษีอากรให้แก่โจทก์ทั้งสองตามจำนวนที่ศาลภาษีอากรกลางได้วินิจฉัยไว้ อุทธรณ์ทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ.

Share