แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะมีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าวแต่โจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งนายทะเบียนออกให้ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าวพ.ศ.2479 มาตั้งแต่ พ.ศ.2489 และต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวติดต่อกันตลอดมา โจทก์จึงต้องเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508
มาตรา 5 ซึ่งบัญญัติให้การเสียสัญชาติไทยมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัวเท่านั้นเป็นบทบัญญัติในเรื่องผลของการเสียสัญชาติไทยว่ามีผลเมื่อใดเป็นคนละเรื่องกับการเสียสัญชาติไทยอันจะต้องพิจารณาตามมาตรา 21 เมื่อโจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียสัญชาติไทยไปตามมาตรา 21 แต่การเสียสัญชาติไทยของโจทก์จะมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
เมื่อโจทก์บรรลุนิติภาวะไปก่อนพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.2508 ใช้บังคับมาตรา 24ย่อมใช้บังคับไม่ได้ในกรณีของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มีบิดาเป็นคนเชื้อชาติจีน สัญชาติจีน มารดาเป็นคนเชื้อชาติไทย สัญชาติไทย เกิดที่จังหวัดกาญจนบุรี จึงเป็นบุคคลสัญชาติไทยเมื่อโจทก์อายุ 16 ปี บิดามารดาโจทก์ประสงค์ให้โจทก์ถือสัญชาติจีนเพื่อเดินทางไปศึกษาภาษาจีนในประเทศจีนได้แจ้งต่อนายทะเบียนต่างด้าวว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติจีน เจ้าพนักงานจึงได้จดทะเบียนให้โจทก์เป็นบุคคลต่างด้าวและออกหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวให้โจทก์ ซึ่งไม่ตรงกับเจตนาของโจทก์ จำเลยได้บังคับให้โจทก์ไปต่ออายุทะเบียนต่างด้าวและเสียภาษีอากรอย่างคนต่างด้าวทุก ๆ ปี และปฏิเสธไม่ยอมทำบัตรประจำตัวประชาชนให้โจทก์ โจทก์ต้องสูญเสียสิทธิในฐานะเป็นคนไทย ขอให้พิพากษาว่าโจทก์เป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยออกบัตรประจำตัวประชาชนให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ต่ออายุทะเบียนต่างด้าวและเสียภาษีอากรอย่างคนต่างด้าวตลอดมา โจทก์เสียสัญชาติไทยตามพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 21 แล้ว และต่อสู้ในข้ออื่นอีก
ก่อนสืบพยานโจทก์แถลงรับว่า เมื่อ พ.ศ. 2489 โจทก์อายุ 16 ปีบิดามารดาโจทก์ได้ทำเรื่องโอนสัญชาติโจทก์เป็นคนจีน โจทก์ได้ต่ออายุทะเบียนต่างด้าวและเสียภาษีอากรอย่างคนต่างด้าวตลอดมาทุกปี โจทก์เพิ่งมาขอคืนสัญชาติไทยเมื่อเดือนสิงหาคม 2520 ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์เสียสัญชาติไทย จึงพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าโจทก์มีสัญชาติไทยเพราะเกิดในราชอาณาจักรไทยโดยมีบิดาเป็นคนต่างด้าว แต่โจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวซึ่งนายทะเบียนได้ออกให้ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนคนต่างด้าว พ.ศ. 2479 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2489 และต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวติดต่อกันตลอดมา โจทก์จึงต้องเสียสัญชาติไทยตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติดังกล่าวบัญญัติให้การเสียสัญชาติไทย มีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาและให้มีผลเฉพาะตัวเท่านั้น มาตรา 5 นี้จึงเป็นบทบัญญัติในเรื่องผลของการเสียสัญชาติไทยว่ามีผลเมื่อใดซึ่งเป็นคนละเรื่องกับการเสียสัญชาติไทยอันจะต้องพิจารณาตามมาตรา 21เมื่อโจทก์ได้รับใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนคนต่างด้าวแล้ว โจทก์จึงต้องเสียสัญชาติไทยไปตามมาตรา 21 ดังกล่าว แต่การเสียสัญชาติไทยของโจทก์จะมีผลต่อเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้จะดำเนินการต่อไป หาใช่ว่าหากยังไม่ประกาศการเสียสัญชาติไทยของโจทก์ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โจทก์จะไม่เสียสัญชาติไทยดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ข้อที่โจทก์บรรลุนิติภาวะเมื่อ พ.ศ. 2494 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับนี้ใช้บังคับ โจทก์จะยื่นคำขอกลับคืนสัญชาติไทยภายในสองปี นับแต่วันที่บรรลุนิติภาวะตามมาตรา 24 ได้อย่างไรนั้น บทบัญญัติตามมาตรา 24 ใช้บังคับไม่ได้ในกรณีของโจทก์ แต่ก่อนที่พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 จะประกาศใช้โจทก์อาจขอแปลงสัญชาติเป็นไทยได้ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2499 นับแต่นั้นมาจนกระทั่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 ใช้บังคับ โจทก์คงต่ออายุใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวติดต่อกันตลอดมา แสดงว่าโจทก์สมัครใจถือสัญชาติตามใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว โจทก์จึงต้องเสียสัญชาติไทย
พิพากษายืน