คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 82/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 อาสาขับรถให้จำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 3 เจ้าของรถนั่งไปด้วย ระหว่างทางจำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย กรณีเช่นนี้จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ตัวแทนจำเลยที่ 3 เพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่ 3 เป็นกิจการในระหว่างจำเลยที่ 3 เจ้าของรถกับจำเลยที่ 1 ผู้อาสา จำเลยที่ 3 ผู้ครอบครองและจำเลยที่ 1 ผู้ควบคุมรถยนต์อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของและผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฉ. – 5242 จำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างหรือตัวแทนได้ขับรถยนต์คันหมายเลขดังกล่าวด้วยความประมาทชนรถยนต์ของโจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยร่วมกันใช้ค่าเสียหาย

ในระหว่างการพิจารณาโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาต

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 3 วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 รับอาสาขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ก.ท.ฉ. – 5242 ของจำเลยที่ 3 โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์ด้วยความประมาทและเรียกร้องค่าเสียหายเกินความจริง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเชื่อว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาท วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อาสาขับรถให้จำเลยที่ 3 ไปส่งให้พ้นเขตที่มีการจราจรจอแจ แล้วจึงให้จำเลยที่ 3 ขับต่อกลับไป จึงเป็นเรื่องตัวการตัวแทนตามกฎหมาย เมื่อจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 3 ไปชนรถของผู้อื่นจนเกิดความเสียหาย จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นตัวการจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย จึงพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายให้โจทก์

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์ว่ามิได้มีความสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทน จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 ขับรถให้จำเลยที่ 3 โดยอาสาขับรถไปส่งให้พ้นเขตที่มีการจราจรคับคั่ง กรณีเช่นนี้ไม่ใช่ตัวแทนเพราะมิใช่เป็นกิจการที่ทำแทนตัวการต่อบุคคลที่ 3 เป็นกิจการในระหว่างจำเลยที่ 3 เจ้าของรถ กับจำเลยที่ 1 ผู้อาสา ไม่เกี่ยวกับบุคคลที่ 3 เลย จำเลยที่ 3 ผู้ครอบครองและจำเลยที่ 1 ผู้ควบคุมรถยนต์อันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลจึงต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ศาลฎีกาเห็นด้วยในผลแห่งคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง

พิพากษายืน

Share