แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อมีผู้บริโภคหลายรายรวมทั้งผู้บริโภคหกรายที่ได้ร้องเรียนต่อโจทก์ว่าถูกจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งหก โจทก์ในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคจึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยอันเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมได้โดยไม่จำต้องให้ผู้บริโภคทั้งหกทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี และเมื่อโจทก์มีคำสั่งตั้งพนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาลแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องคดีเองได้โดยไม่จำต้องได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความอีก
แม้สัญญาจะซื้อจะขายจะได้ระบุว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านเมื่อผู้บริโภคทั้งหกรายชำระเงินดาวน์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว และ พ. กับ น. ซึ่งเป็นผู้บริโภคจะชำระเงินดาวน์ยังไม่ครบถ้วนแต่ก็เนื่องมาจากจำเลยไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญาและละทิ้งการก่อสร้างจนระยะเวลาอันสมควรที่จะต้องก่อสร้างบ้านพิพาทให้แล้วเสร็จได้ล่วงเลยมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 5 ปี จำเลยจึงผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ แม้จะให้เวลาจำเลยปฏิบัติตามสัยญาเพียง 15 วันก็ตาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยชำระเงินแก่นายพินิจและนางเหมวรรณ จำนวน 91,700 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายสุนทรจำนวน 142,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นางภาวินีจำนวน 142,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายบุญเรือน จำนวน 160,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นายทองสุขจำนวน 297,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ ชำระเงินแก่นางสาวหน่อยนภาและนางสาวนิตยาจำนวน 142,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 91,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน2537 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นายพินิจและนางเหมวรรณชำระเงิน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายสุนทรชำระเงิน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นางภาวินีชำระเงิน 160,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นายบุญเรือนชำระเงิน 297,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับตั้งแต่วันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นายทองสุขและชำระเงิน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2539 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่นางสาวหน่อยนภาและนางสาวนิตยา โจทก์ฟ้องคดีโดยพนักงานอัยการซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทนายความ จึงไม่กำหนดค่าทนายความให้ ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนอื่นให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ผู้บริโภคทั้งหกรายต้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 บัญญัติว่า “คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้… (7) ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคที่คณะกรรมการเห็นสมควรหรือมีผู้ร้องขอตามมาตรา 39” และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นสมควรเข้าดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค หรือเมื่อได้รับคำร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าการดำเนินคดีนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์ เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และเมื่อคณะกรรมการได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการมอบหมายได้” จากบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์เป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในฐานะเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าผู้บริโภคหลายรายที่ร้องเรียนจำเลยต่อโจทก์รวมทั้งผู้บริโภคทั้งหกรายนี้ที่ได้ร้องเรียนจำเลยต่อโจทก์ตามบันทึกคำร้องเรียนว่าถูกจำเลยละเมิดสิทธิของผู้บริโภคทั้งหก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแก่จำเลยอันเป็นการดำเนินคดีเพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวมได้ตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยไม่จำต้องให้ผู้บริโภคทั้งหกทำหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีดังที่จำเลยฎีกา ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า การบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้สัญญาจะซื้อจะขายทั้ง 6 ฉบับ จะได้ระบุว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านเมื่อผู้บริโภคทั้งหกรายชำระเงินดาวน์ครบถ้วนตามสัญญาแล้ว และผู้บริโภครายนายพินิจและนายบุญเรือนจะชำระเงินดาวน์ยังไม่ครบถ้วน แต่ก็เนื่องมาจากจำเลยไม่ก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จตามสัญญาและละทิ้งการก่อสร้างจนถึงปี 2546 และปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่ผู้บริโภคทั้งหกรายไปร้องเรียนต่อโจทก์ เห็นได้ชัดว่าระยะเวลาอันสมควรที่จะต้องก่อสร้างบ้านพิพาทให้แล้วเสร็จได้ล่วงเลยมาแล้วเป็นเวลาประมาณ 5 ปี และกรณีของนายบุญเรือนนั้นนับระยะเวลานับแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายจนถึงวันที่ร้องเรียนต่อโจทก์ก็เป็นเวลาประมาณ 3 ปี จึงถือว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์จึงมีอำนาจบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยได้ แม้จะให้เวลาปฏิบัติตามสัญญาเพียง 15 วันก็ตาม และตามสัญญาจะซื้อจะขายข้อ 7 ระบุว่า หากผู้จะขายผิดสัญญา ผู้จะขายยินดีคืนเงินส่วนที่รับมาแล้วทั้งหมดให้แก่ผู้จะซื้อพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อจำเลยผิดสัญญาจำเลยจึงต้องคืนเงินทั้งหมดที่รับมาพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้บริโภคทั้งหกราย ฎีกาจำเลยประการสุดท้ายนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.