คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4507/2534

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ในชั้นบังคับคดี จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแยกขายที่ดินทีละแปลง โดยอ้างว่าการขายที่ดินบางแปลงอาจจะได้เงินมาพอชำระหนี้ตามคำพิพากษา หากขายรวมกันทุกแปลงแล้วจำเลยที่ 1จะเสียหายมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อนให้ยกคำร้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิใช่คำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดอันจะทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะเลื่อนการขายทอดตลาดไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 วรรคสอง การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปในขณะที่คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิยื่นคำร้องขอ ให้ยกเลิกการขายทอดตลาดได้ตามมาตรา 296 วรรคสอง.

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน 7 แปลง และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อได้จากการขายทอดตลาดในราคา 700,000 บาท
จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2530โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายทอดตลาดที่ดิน 7 แปลงและสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 ไปด้วยกัน จำเลยที่ 1โดยจำเลยที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจคัดค้านขอให้แยกขายที่ดินทีละแปลงโดยอ้างว่าการขายที่ดินเพียงบางแปลงอาจได้เงินมาพอชำระหนี้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาคดีนี้แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการร้องขอต่อศาลขอให้มีคำสั่งในเรื่องนี้ภายในกำหนด 15 วัน ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้แยกขายที่ดินดังกล่าวทีละแปลงโดยอ้างว่าการขายที่ดินบางแปลงอาจจะได้เงินมาพอชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากรวมขายไปด้วยกันทุกแปลงแล้วจำเลยที่ 1 จะเสียหายมาก ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน ยกคำร้องจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ครั้นถึงวันขายทอดตลาด โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมขายทอดตลาดที่ดินทั้งหมดของจำเลยที่ 1 ไปด้วยกัน จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 1 คัดค้านอีกว่า ขอให้แยกขายที่ดินทีละแปลงแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวมขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าวไปด้วยกันซึ่งปรากฏว่ามีผู้เข้าประมูลเพียงคนเดียวคือโจทก์ เจ้าพนักงานบังคับคดีตกลงขายทอดตลาดที่ดินทั้งหมดให้แก่โจทก์ไปในราคา 700,000บาท และขายทอดตลาดสิทธิการเช่าโทรศัพท์ให้แก่โจทก์ในราคา 11,000บาท จำเลยทั้งสองเห็นว่าราคาทรัพย์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดไปต่ำกว่าราคาที่แท้จริงเกือบสามล้านบาท และการขายทอดตลาดได้กระทำไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ทั้งหมด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า การขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมาย มีผู้จะเข้าประมูลนับร้อยราย แต่ไม่กล้าประมูลเนื่องจากเหตุหลายประการกล่าวคือ ที่ดินของจำเลยที่ 1 ติดจำนองอยู่ ยอดหนี้จำนองคำนวณถึงวันขายทอดตลาดเป็นเงินสองล้านกว่าบาทและติดภาระการเช่าทำโรงงานซึ่งจดทะเบียนการเช่าไว้นานถึง 20 ปี ทั้งเป็นที่ดินซึ่งไม่สามารถเข้าไปทำประโยชน์ได้ทันที นอกจากนี้ค่าเช่าที่จะได้รับจากผู้เช่าที่ดินเป็นเงินเพียงเดือนละหนึ่งพันกว่าบาท โดยเฉพาะที่ดินแปลงที่ 1เป็นบ่อลึกมากมีน้ำเน่าขัง ส่วนเหตุที่โจทก์ประมูลเนื่องจากเกรงว่าที่ดินของจำเลยที่ 1 จะขายทอดตลาดไม่ได้เพราะยิ่งนานวันดอกเบี้ยจำนองและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาก็ยิ่งเพิ่มขึ้นซึ่งจะทำให้ค่าของที่ดินเหลือน้อยลงทุกทีจนอาจจะไม่พอชำระหนี้จำนองและหนี้ตามคำพิพากษาได้เพราะจำเลยทั้งสองไม่มีทรัพย์สินอื่นซึ่งสามารถเอาชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ในวันนัดพร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งภาพถ่ายรายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีเกี่ยวกับการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทลงวันที่22 ธันวาคม 2530 ต่อศาล ต่อมาในวันนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสองโจทก์และจำเลยทั้งสองต่างแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า รายงานของเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับดังกล่าวถูกต้อง แต่ฝ่ายจำเลยแถลงว่ายังมีข้อเท็จจริงเพิ่มเติมข้อเท็จจริงในรายงานดังกล่าวอยู่อีก3 ประการ กล่าวคือ ประการแรก การขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 3กุมภาพันธ์ 2530 โจทก์ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีงดการขายทอดตลาดด้วย ประการที่สอง เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 จำเลยที่ 2ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแยกขายที่ดินทีละแปลง แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีมิได้มีคำสั่ง ประการที่สาม จำเลยได้คัดค้านว่าราคาที่ขายต่ำกว่าความเป็นจริงด้วย นอกจากนี้จำเลยทั้งสองแถลงรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นสามีจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วโดยไม่จำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความแต่ละฝ่ายต่อไปจึงให้งดสืบพยานหลักฐานของคู่ความทั้งสองฝ่าย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีในคดีนี้เสีย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยแถลงรับกันว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดที่ดิน7 แปลง และสิทธิการเช่าโทรศัพท์ของจำเลยที่ 1 รวม 4 ครั้งครั้งแรกกำหนดขายในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2530 ก่อนถึงวันขายจำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นงดการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ก่อนโดยอ้างว่า นางสุนันทา มณีสุดากร จะนำเงิน 600,000 บาทมาวางเป็นหลักประกันต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรอการขายทอดตลาดทรัพย์ไว้ก่อน เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้งดการขายทอดตลาดไว้ตามคำสั่งศาล ต่อมาเมื่อวันที่ 27มีนาคม 2530 ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์ต่อไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 อีกเป็นครั้งที่ 2 โดยกำหนดขายในวันที่ 3 กรกฎาคม 2530 ถึงวันขายโจทก์แถลงว่า ขอให้รวมขายที่ดินทั้งเจ็ดแปลงไปด้วยกัน และขอให้งดการขายครั้งที่ 2 ไว้ก่อนต่อมาก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะประกาศขายใหม่ โจทก์แถลงเพิ่มเติมว่า ในการรวมขายที่ดินทั้งเจ็ดแปลงไปด้วยกันนั้นขอให้ขายโดยติดจำนองเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงมีคำสั่งให้รวมขายที่ดินทั้งเจ็ดแปลงไปด้วยกันโดยติดจำนองและได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์อีกเป็นครั้งที่ 3 โดยกำหนดขายในวันที่ 31 สิงหาคม 2530 ถึงวันขายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้แยกขายที่ดินทีละแปลง เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้งดการขายทอดตลาดไว้ และให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2530เป็นต้นไป ต่อมาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2530 จำเลยที่ 1 ได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้มีคำสั่งให้แยกขายที่ดินทีละแปลงศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งว่าเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดี ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 1 เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงได้ประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เป็นครั้งที่ 4โดยกำหนดขายในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันขาย จำเลยที่ 1ได้ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแยกขายที่ดินทีละแปลงอีกแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้รวมขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงไปด้วยกันตามที่ประกาศไว้ โจทก์เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดเป็นเงิน 700,000 บาทจำเลยที่ 1 คัดค้านว่าราคาต่ำ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าการขายทอดตลาดที่ดินทั้งเจ็ดแปลงเป็นการขายโดยติดจำนอง และหนี้จำนองซึ่งคำนวณถึงวันขายทอดตลาดเป็นเงินประมาณสองล้านกว่าบาททั้งที่ดินแปลงที่ 3 ถึงที่ 7 ยังติดการเช่าซึ่งจดทะเบียนไว้มีกำหนด 20 ปี โดยได้ค่าเช่าเป็นเงินเพียงเดือนละหนึ่งพันกว่าบาทนอกจากนั้นราคาสูงสุดที่โจทก์เสนอซื้อเป็นเงิน 700,000 บาทเป็นราคาที่พอสมควรแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงตกลงขายให้แก่โจทก์
คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งใน คำร้องของจำเลยที่ 1 ฉบับลงวันที่ 15 กันยายน2530 ที่ขอให้ขายที่ดินทีละแปลงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า คำสั่งของศาลที่จะเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 309 วรรคสอง จะต้องเป็นกรณีที่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรวมหรือแยกทรัพย์สิน หรือขอให้ขายทรัพย์สินนั้นตามลำดับที่กำหนดไว้หรือร้องคัดค้านคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่สั่งให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินตามมาตรา 309(1)(2) หรือ (3) และเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ยอมปฏิบัติตามคำร้องขอหรือคำคัดค้านเช่นว่านั้น ผู้ร้องได้ยื่นคำขอต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องภายใน 2 วัน นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธ เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนั้น คำสั่งชี้ขาดของศาลจึงจะเป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงในคดีนี้เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องดำเนินการชั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีก่อน ให้ยกคำร้อง จึงมิใช่คำสั่งชี้ขาดในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดอันจะทำให้คำสั่งของศาลชั้นต้นเป็นที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีชอบที่จะเลื่อนการขายไปจนกว่าศาลจะได้มีคำสั่งชี้ขาดในเรื่องนี้ ตามมาตรา 309 วรรคสองและจำเลยที่ 1 ก็ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมไม่มีอำนาจขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ไปในระหว่างที่ยังไม่มีคำสั่งของศาลในเรื่องให้รวมหรือแยกทรัพย์สินขายทอดตลาดซึ่งเป็นที่สุด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไปในขณะที่คดีเรื่องนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์เช่นนี้การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับคดี จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ยกเลิกการขายทอดตลาดได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง…”
พิพากษายืน.

Share