แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ และกรรมการของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เรียกร้องผู้ถือหุ้นให้ชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงมีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ส่งชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระได้ จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การเพียงว่ากรรมการของจำเลยที่ 1เท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้างโดยกรรมการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา1120 และมาตรา 1121 บุคคลอื่นแม้จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3หาได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในมาตราดังกล่าว โจทก์จึงยังหามีสิทธิเรียกร้องไม่ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลล่าง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย.ไม่มี สิทธิครอบครอง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ถือหุ้นจำเลยที่ 1 และได้ชำระค่าหุ้น 50 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1 ตามมูลค่าหุ้นที่ตนยังมิได้ชำระ จำเลยที่ 1 ได้ซื้อก๊าซไนโตรเจนเหลวไปจากโจทก์ คิดเป็นเงิน 86,060 บาท จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระราคา ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้หยุดดำเนินธุรกิจ ทรัพย์สินก็จำหน่ายจ่ายโอนไปจดหมดสิ้น โจทก์จึงได้บอกกล่าวให้จำเลยที่ 1เรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระเพื่อจะได้นำมาชำระหนี้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 มิได้เรียกเก็บค่าหุ้นจากจำเลยที่ 2 ที่ 3ทำให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์ โจทก์จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องแทนจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ชำระค่าหุ้นที่ค้าง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ค่าสินค้า 86,060 บาท พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 99,310.46 บาท และให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมกันรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในจำนวนเงินดังกล่าวตามจำนวนมูลค่าหุ้นที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า เป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1จริง หนี้สินที่จำเลยที่ 1 มีต่อโจทก์เป็นหนี้ส่วนตัวของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ยังประกอบกิจการอยู่และเป็นคู่สัญญากับโจทก์ ต้องรับผิดต่อโจทก์เอง เพราะมีทรัพย์สินพอจะชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ที่ 3เป็นเพียงผู้ถือหุ้นจึงไม่ต้องรับผิดในหนี้สินของจำเลยที่ 1เป็นส่วนตัว การเรียกชำระค่าหุ้นเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทเท่านั้น บุคคลอื่นแม้จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะเรียกผู้ถือหุ้นให้ชำระค่าหุ้นได้ และการเรียกชำระค่าหุ้นไม่ใช้สิทธิเรียกร้องที่จะจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระค่าหุ้นที่ค้าง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงินให้โจทก์ 99,310.46 บาทโดยให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ร่วมรับผิดตามจำนวนมูลค่าหุ้นที่จำเลยที่ 2และ 3 ยังค้างชำระต่อจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลชั้นต้นพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระเงินแก่โจทก์คนละ 43,030 บาท พร้อมดอกเบี้ย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจที่จะใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 ชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระได้หรือไม่…ข้อเท็จจริงฟังได้ตามพยานหลักฐานโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ได้ เมื่อจำเลยที่ 1ไม่สามารถชำระหนี้แก่โจทก์ แต่กรรมการของจำเลยที่ 1 ก็ไม่เรียกร้องผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ให้ชำระค่าหุ้นที่ยังค้างชำระ เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์ ย่อมเห็นได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ต้องเสียประโยชน์ ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ในอันที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ส่งชำระค่าหุ้นที่ค้างชำระได้ฎีกาของจำเลย 2 ที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกาอีกข้อหนึ่งว่า หากจะฟังว่าโจทก์มีอำนาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 เรียกร้องให้จำเลยที่ 2ที่ 3 ชำระค่าหุ้นที่ค้าง โจทก์ก็ยังคงต้องปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายในมาตรา 1120 และมาตรา 1120 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เสียก่อน แต่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 นั้น ได้พิเคราะห์คำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 แล้ว จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การไว้ในคำให้การข้อ 2ว่า “จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ขอต่อสู้ว่าการเรียกให้ชำระค่าหุ้นเพิ่มเติมของบริษัทจำกัดตามกฎหมายเป็นหน้าที่ของกรรมการบริษัทเท่านั้นที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นส่งใช้เสียเมื่อใดก็ได้ เว้นแต่ที่ประชุมใหญ่จะได้วินิจฉัยเป็นอย่างอื่น และการเรียกเงินค่าหุ้นแต่ละคราวนั้นตามกฎหมายจะต้องส่งคำบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า21 วัน ด้วยจดหมายส่งลงทะเบียนไปรษณีย์ และผู้ถือหุ้นทุกคนจะต้องใช้เงินตามจำนวนที่เรียกนั้น สุดแต่กรรมการจะได้กำหนดไปว่าให้ส่งไปยังผู้ใด ณ ที่ใด และเวลาใด ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1120 และมาตรา 1121 บุคคลอื่นซึ่งแม้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิและไม่มีอำนาจที่จะเรียกให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นได้ การเรียกให้ชำระค่าหุ้นไม่ใช้สิทธิเรียกร้องที่จะจำหน่ายจ่ายโอนกันได้ ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้เรียกให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ชำระค่าหุ้นเพิ่มเติม แม้โจทก์จะเป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจฟ้องหรือเรียกร้องให้จำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ชำระค่าหุ้นที่ค้างได้” จากคำให้การของจำเลยที่ 2ที่ 3 ดังกล่าว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 มุ่งให้การต่อสู้ว่ากรรมการของจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถือหุ้นชำระค่าหุ้นที่ค้าง โดยกรรมการต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1120 และมาตรา 1121 บุคคลอื่นแม้จะเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจใช้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 3 หาได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติตามขั้นตอนในมาตรา 1120 และมาตรา 1121 โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกร้องไม่ ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ในข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน.