แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358,360 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งเก้า ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ยืนตามศาลชั้นต้น และความผิดฐานเป็น ตัวการ ในการทำเหมืองแร่ โดยไม่ได้รับประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2510 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 8 ที่ 9 ยืน ตามศาลชั้นต้น ความผิดตามข้อหาของจำเลยแต่ละคนข้างต้นดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คำว่า อาการสถานที่ ตามคำนิยามของคำว่าโรงงานในพระราชบัญญัติ โรงงาน พ.ศ.2512 หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่ตั้งเครื่องจักร เพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่บทกฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ โดย ไม่จำเป็นต้องมีตัวอาคารที่ถาวร ดังนั้น การที่จำเลยที่ 8 ที่ 9สั่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างกางเต็นท์ ตั้งเครื่องจักร 2 เครื่องมีกำลัง 3 แรงม้า และ 8 แรงม้าเจาะพื้นดินสูบน้ำนำแร่ เกลือ หิน ขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อทำเป็นเกลือสินเธาว์ อันเป็นการแปรสภาพ หรือทำลายสิ่งใด ๆ โดยใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมกันตั้งแต่ 2 แรงม้า ขึ้น ไปถือได้ว่าเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงาน เมื่อ ไม่ได้ รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานจึงมีความผิดตามมาตรา 5,8,12,43 วรรคหนึ่ง,44 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 360พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 43, 105, 135, 148, 154, 155พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43, 44กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 บัญชีท้ายกฎกระทรวงลำดับที่ 42 ให้โรงงานของจำเลยทั้งเก้าหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 43, 105, 135วรรคหนึ่ง, 148 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ต่างกรรมกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราว จำคุกคนละ 1 ปีปรับคนละ 9,000 บาท ความผิดฐานร่วมกันมีแร่ไว้ในครอบครองเกินกว่า 2 กิโลกรัม ปรับคนละ 30 บาท จำเลยที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 43, 105, 134, 148ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 ต่างกรรมกัน ให้เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราวจำคุกคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ความผิดฐานร่วมกันมีแร่ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 30 บาทความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 30,000บาท ความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 30,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 9,030 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 66,030 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 คงจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ6,020 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 จำคุกคนละ 5 เดือน 10 วันและปรับคนละ 44,020 บาท รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี หากจำเลยคนใดไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยทั้งเก้าหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต ของกลางริบ คำขอเรื่องสินบนนำจับและข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามฟ้อง จำเลยที่ 4 ที่ 5และที่ 6 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา135 วรรคหนึ่ง, 148 วรรคหนึ่ง ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 8 ที่ 9 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติโรงงาน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามฟ้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 360 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งเก้า ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ยืนตามศาลชั้นต้น และความผิดฐานเป็นตัวการในการทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 8 ที่ 9 ยืนตามศาลชั้นต้นดังนั้นในความผิดตามข้อหาของจำเลยแต่ละคนข้างต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในความผิดที่ต้องห้ามตามที่กล่าวแล้ว คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 8 ที่ 9 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43 และ 44ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่
ในปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งและที่โจทก์นำสืบมาโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นนั้น ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 8 ที่ 9 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ใช้เครื่องจักร2 เครื่อง มีกำลัง 3 แรงม้าและ 8 แรงม้า เจาะพื้นดินและสูบน้ำนำแร่เกลือหินขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อมาทำเป็นเกลือสินเธาว์โดยเครื่องจักรนั้นมีเต็นท์กางไว้ กิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 8ที่ 9 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “โรงงาน” ไว้ในมาตรา 5 ว่า “โรงงาน” หมายความว่าอาคารสถานที่หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่สองแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่สองแรงม้าขึ้นไป… เพื่อใช้สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุงแปรสภาพหรือทำลายสิ่งใด ๆ ทั้งนี้ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง” คำว่า อาคารอย่างเดียวนั้นเป็นที่เห็นได้ว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในสถานที่ ถ้าไม่มีสถานที่แล้วก็ไม่อาจที่จะมีอาคารเกิดขึ้นได้ ความหมายของคำว่าอาคารจึงต้องหมายถึงอาคารที่ตั้งอยู่ในสถานที่ การที่บทบัญญัติของมาตรานี้ใช้คำว่า อาคารสถานที่ จึงเป็นข้อที่ทำให้เห็นว่าจะให้มีความหมายในทางที่กว้างกว่าคำว่าอาคารคำเดียว เพื่อให้ความมุ่งหมายในการใช้กฎหมายฉบับนี้มีผลในทางที่จะควบคุมและป้องกันความเดือดร้อนรำคาญในการประกอบกิจการที่เป็นโรงงาน ดังนั้นคำว่าอาคารสถานที่ตามบทบัญญัติของมาตรานี้จึงหมายความรวมไปถึงสถานที่ที่ตั้งเครื่องจักรเพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ตอนท้ายด้วย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีตัวอาคารที่ถาวรมิฉะนั้นการตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่แปรรูปไม้อยู่ในป่าก็ดี หรือการผลิตเสาเข็มหรืออุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ ที่กระทำกลางแจ้งก็ดีจะไม่มีทางที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 8 ที่ 9 ประกอบกิจการสูบน้ำนำแร่เกลือหินขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อนำมาทำเป็นเกลือสินเธาว์ จึงเป็นการแปรสภาพหรือทำลายสิ่งใด ๆ โดยใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมกันตั้งแต่สองแรงม้าขึ้นไป จึงเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงาน เมื่อจำเลยที่ 8 ที่ 9 ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 8 ที่ 9 จึงเป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 8 ที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43 วรรคหนึ่ง44 วรรคหนึ่ง ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.