คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 747 ในการจำนำผู้จำนำจะต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนำเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้แม้จำเลยจะสลักหลังจำนำใบรับฝากเงินประจำและยินยอมให้ผู้ร้อง นำเงินจำนวน 1,396,774.06 บาท ที่ฝากไว้ตามใบรับฝากเงินประจำของจำเลยเป็นประกันหนี้ที่ค้างชำระต่อผู้ร้อง แต่เงินฝากประจำจำนวนดังกล่าวที่จำเลยฝากไว้กับผู้ร้องนั้น ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องมาตั้งแต่มีการฝากเงินแล้ว จำเลยผู้ฝากคงมีเพียงสิทธิที่จะถอนเงินที่ฝากไปได้และผู้ร้อง คงมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนที่ขอถอนเท่านั้นจึงมิใช่การส่งมอบสังหาริมทรัพย์ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องตามลักษณะจำนำแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงหามีสิทธิเหนือทรัพย์สิน ของจำเลยในทางจำนำหรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำไม่ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลย (ลูกหนี้) เด็ดขาดเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2526 และพิพากษาให้ล้มละลายเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2526 ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ซึ่งจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีและศาลมีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยเป็นเงิน 32,147,692.92 บาท ต่อมาวันที่ 15 พฤศจิกายน 2531ผู้ร้องได้แสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอนำเงินฝาก จำนวน1,428,144.65 บาท และวันที่ 31 กรกฎาคม 2532 ขอนำดอกเบี้ยเงินฝากประจำจำนวน 80,831.06 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,508,975.71 บาท ซึ่งผู้ร้องต้องคืนให้แก่จำเลยเข้าหักกลบลบหนี้กันกับเงินที่ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของจำเลยและขอรับชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งว่าผู้ร้องขอรับชำระหนี้โดยไม่แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันจึงต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันแก่กองทรัพย์สินของจำเลยตามมาตรา 97 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483ผู้ร้องเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวไม่ถูกต้อง เพราะผู้ร้องเป็นทั้งเจ้าหนี้และยังเป็นลูกหนี้กองทรัพย์สินของจำเลยตามใบรับฝากเงินประจำ 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 1,396,774.06 บาท กับเงินฝากกระแสรายวันอีก 31,370.59 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,428,144.65บาท ผู้ร้องย่อมมีสิทธิขอหักกลบลบหนี้ได้ตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 เงินฝากประจำดังกล่าวได้จำนำเป็นประกันหนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกัน แต่ภาระค้ำประกันนั้นสิ้นสุดไปแล้ว ผู้ร้องมิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามภาระหนังสือค้ำประกัน เงินฝากประจำดังกล่าว จึงไม่ได้เป็นประกันหนี้ที่ขอชำระหนี้ในคดีนี้ ผู้ร้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นการชอบแล้ว ขอให้มีคำสั่งให้ผู้ร้องใช้สิทธิหักกลบลบหนี้ได้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า คำขอรับชำระหนี้ของผู้ร้องลงวันที่ 31 พฤษภาคม 2526 ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องตามสัญญาค้ำประกันอยู่ 32,147,692.92 บาทเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้สอบสวนทำความเห็นและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 32,147,692.92 บาท เมื่อพิจารณาประกอบกับข้อความที่สลักหลังใบรับฝากเงินประจำทั้ง 2 ฉบับ ว่าจำนำไว้แก่ผู้ร้องเป็นประกันหนี้ของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้อยู่ในขณะนี้หรือเป็นลูกหนี้ในอนาคตต่อผู้ร้อง จึงเห็นได้ว่าหากจำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องอยู่ขณะนั้นหรือภายหน้า ใบรับฝากเงินนี้ก็ผูกพันเป็นประกันหนี้นั้น ๆ ด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ร้องจะอ้างว่าใบรับฝากเงินประจำได้จำนำตามภาระค้ำประกันที่สิ้นสุดไปแล้ว และมิใช่หนี้ที่ขอรับชำระหนี้ในคดีนี้ก็ตามเมื่อหนี้ที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้ยังมีอยู่ จำเลยก็ต้องผูกพันตามสัญญาจำนำและถือว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกัน จะอ้างว่าสัญญาสิ้นสุดไม่ได้ ขอให้ยกคำร้องของผู้รองให้ผู้ร้องคืนหลักประกันเป็นเงินรวม 1,508,975.71 บาทแก่กองทรัพย์สินของจำเลย
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้ได้เป็นเงินจำนวน 1,508,975.71 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 102
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า ผู้ร้องได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในฐานะเจ้าหนี้ไม่มีประกันต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ได้เป็นเงินจำนวน 32,147,692.92 บาทต่อมาผู้ร้องได้แสดงเจตนาต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ขอนำเงินฝากไว้กับผู้ร้องตามใบรับฝากเงินประจำ 2 ฉบับ ตามเอกสารหมาย ร.6และ ร.7 จำนวนเงินรวม 1,396,774.06 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย80,831.06 บาท กับเงินฝากตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันอีก31,370.59 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,508,975.71 บาทเข้าหักกลบลบหนี้กันก่อนและขอรับชำระหนี้ในส่วนที่เหลือ ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ และผู้ร้องมีสิทธิหักกลบลบหนี้หรือไม่ จำนวนเท่าใด เห็นว่า จากทางนำสืบของผู้ร้อง หนี้ที่ผู้ร้องขอรับชำระหนี้เป็นหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่จำเลยเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งบริษัทวิศวกรรม จำกัด ทำไว้กับผู้ร้องตามเอกสารหมาย ร.12 ต่อมาจำเลยได้ให้ผู้ร้องออกหนังสือค้ำประกันสัญญาการรับจ้างสร้างทางสายเลย-เชียงคาน ต่อกรมทางหลวงอีกโดยจำเลยได้สลักหลังจำนำใบรับฝากเงินประจำ 2 ฉบับตามเอกสารหมาย ร.6 และ ร.7 ให้ผู้ร้องไว้เพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่มีอยู่แล้ว หรือที่จะมีขึ้นในอนาคตและตกลงยอมให้ผู้ร้องหักเงินฝากดังกล่าวชำระหนี้ของจำเลยที่ค้างชำระต่อผู้ร้องได้ทันทีด้วยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้คัดค้านก็นำสืบฟังได้เจือสมกันในข้อนี้ มีปัญหาว่าการสลักหลังและข้อตกลงดังกล่าวระหว่างผู้ร้องและจำเลยเข้าลักษณะเป็นการจำนำที่จะทำให้ผู้ร้องมีฐานะเป็นเจ้าหนี้มีประกันหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 747 ในการจำนำผู้จำนำจะต้องส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนำเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ คดีนี้แม้จำเลยจะสลักหลังจำนำใบรับฝากเงินประจำและยินยอมให้ผู้ร้องนำเงินจำนวน 1,396,774.06 บาท ที่ฝากไว้ตามใบรับฝากเงินประจำของจำเลยเป็นประกันหนี้ที่ค้าชำระต่อผู้ร้องแต่เงินฝากประจำจำนวนดังกล่าวที่จำเลยฝากไว้กับผู้ร้องนั้นย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องมาตั้งแต่มีการฝากเงินแล้วจำเลยผู้ฝากคงมีเพียงสิทธิที่จะถอนเงินที่ฝากไปได้และผู้ร้องคงมีหน้าที่ต้องคืนเงินให้ครบจำนวนที่ขอถอนเท่านั้น จึงมิใช่การส่งมอบสังหาริมทรัพย์ของจำเลยให้แก่ผู้ร้องตามลักษณะจำนำแต่อย่างใด ผู้ร้องจึงหามีสิทธิเหนือทรัพย์สินของจำเลยในทางจำนำหรือมีบุริมสิทธิที่บังคับได้ทำนองเดียวกับผู้รับจำนำไม่ ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 6ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าผู้ร้องมีสิทธิขอนำเงินฝากประจำของจำเลยมาหักกลบลบหนี้กับจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 102 จึงชอบแล้ว แต่ที่ให้นำเงินดอกเบี้ย จำนวน 80,831.06 บาท และเงินฝากกระแสรายวันจำนวน 31,370.59 บาท มาหักกลบลบหนี้ด้วย นั้นยังไม่ถูกต้อง เพราะคดีปรากฏจากคำเบิกความของนางสาวชลดา ศรีศุภรางค์กุล พยานผู้ร้องว่า ผู้ร้องได้นำดอกเบี้ยของเงินฝากประจำเข้าฝากบัญชีกระแสรายวันของจำเลยเรื่อยมาจนถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2531 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้วนายประมุข วัฒนวาณิชย์ พยานอีกปากหนึ่งของผู้ร้องก็เบิกความว่าผู้ร้องนำดอกเบี้ยเงินฝากของจำเลยเข้าบัญชีกระแสรายวันของจำเลยจึงฟังไม่ได้ว่าดอกเบี้ยและเงินฝากตามบัญชีกระแสรายวันที่ผู้ร้องนำมาขอหักกลบลบหนี้เป็นเงินที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำเลยในเวลาที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องไม่อาจหักกลบลบหนี้ได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องหักกลบลบหนี้ได้เป็นเงินจำนวน1,396,774.06 บาท

Share