คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 450/2516

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ได้รับสัมปทานเดินรถ และได้รับรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับให้วิ่งร่วมในเส้นทางที่ได้รับสัมปทานมีชื่อบริษัทจำเลยที่ 3 ที่ข้างรถ จำเลยที่ 3ควบคุมการเดินรถ กำหนดอัตราค่าโดยสาร และได้รับประโยชน์ตอบแทน คือ เรียกค่าธรรมเนียมจากรถที่เข้าร่วมเส้นทางและคิดค่าจอดรถเป็นรายวัน เช่นนี้ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุในกิจการเดินรถของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดเสียหายต่อโจทก์จำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างก็ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1
ค่าจ้างนางพยาบาลเฝ้าไข้ ค่ายา ค่าจ้างรถแท็กซี่ที่ภรรยาไปเฝ้าเยี่ยมปรนนิบัติที่โรงพยาบาล ค่าจ้างรถแท็กซี่นั่งไปทำงานเพราะยังเดินไม่ได้ เป็นค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเอาจากจำเลยได้
การที่โจทก์ต้องพิการ.ไม่สามารถเดินได้ อย่างคนธรรมดาเสียสมรรถภาพในการรับราชการทหาร ทั้งไม่สามารถทำงานหนักได้ ถือได้ว่าโจทก์สูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทจำกัด เดินรถรับส่งคนโดยสารจำเลยที่ 2 นำรถยนต์ของตนเข้าวิ่งร่วมกับจำเลยที่ 3 โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถ เพื่อหาประโยชน์ร่วมกัน จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ และตัวโจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกขาหัก เมื่อหายแล้วเดินไม่ปกติ เสียค่ารักษาพยาบาลและค่าเสียหายอื่น ๆ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 50,000 บาท

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 24,400 บาท และดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

จำเลยที่ 1 ที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาท เป็นเหตุให้ชนรถโจทก์จริง

ประเด็นต่อไปมีว่า จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดในผลละเมิดร่วมกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 3 เป็นบริษัทผู้ได้รับสัมปทานเดินรถในเส้นทางสายนี้ และได้รับรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับเข้าวิ่งร่วมในเส้นทางสัมปทาน และมีชื่อข้างรถว่า “บริษัทไทยพัฒนกิจขนส่ง จำกัด” จำเลยที่ 3 ควบคุมการเดินรถ กำหนดอัตราค่าโดยสาร และได้รับประโยชน์ตอบแทน คือ ค่าธรรมเนียมจากรถที่เข้าร่วมเส้นทาง ค่าจอดรถ จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้มีและใช้รถคันเกิดเหตุในกิจการเดินรถของจำเลยที่ 3 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดเสียหายต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ผู้เป็นนายจ้างก็ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ด้วย

ประเด็นในเรื่องค่าเสียหายนั้น ปรากฏว่าโจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกแข้งขวาหัก ต้องดามเหล็กเข้าเฝือกไว้ ผ่าตัดถึง 3 ครั้ง ต้องนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล 2 เดือนเศษ โจทก์เสียค่าจ้างนางพยาบาลเฝ้าไข้ 12 คืน เป็นเงิน 1,200 บาท เสียค่ารถแท็กซี่ที่ภรรยาไปเฝ้าเยี่ยมปรนนิบัติ 600 บาท เมื่อโจทก์ออกจากโรงพยาบาลแล้วโจทก์ยังเดินไม่ได้ ต้องจ้างรถแท็กซี่สำหรับส่งไปทำงานอีก 3 เดือน เป็นเงิน 600 บาท ค่าซ่อมรถจักรยานยนต์ 1,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่า ค่าใช้จ่ายเหล่านี้แม้โจทก์จะไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดง แต่โจทก์มีตัวโจทก์และพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องมาเบิกความรับรองว่า โจทก์ได้จ่ายไปจริงและศาลเห็นว่าเป็นจำนวนที่เหมาะสมแล้ว ที่โจทก์นำสืบว่าเมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้วต้องซื้อยามารักษาอีกตามคำสั่งของแพทย์เป็นเงิน 1,600 บาท ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ไม่มีใบเสร็จรับเงินมาแสดงแต่เมื่อพิจารณาอาการป่วยเจ็บประกอบแล้ว น่าเชื่อว่าโจทก์ต้องซื้อยามารักษาตัวจริง และกำหนดค่ายาให้เพียง 1,000 บาท พอเหมาะสมแล้วส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องสูญเสียอนาคตในการทำงานและเสียบุคลิกลักษณะนั้น เห็นว่า การที่โจทก์ถูกรถชน ทำให้โจทก์ขาพิการไปตลอดชีวิต ไม่สามารถเดินได้อย่างคนธรรมดา เสียสมรรถภาพในการรับราชการทั้งไม่สามารถทำงานหนักได้ ถือได้ว่าโจทก์สูญเสียความสามารถประกอบการงานในภายหน้า และทำลายความก้าวหน้าของโจทก์ตลอดชีวิต ศาลล่างกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้จำเลยชดใช้แก่โจทก์ 20,000 บาท ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นการเหมาะสมแล้ว

พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 500 บาทแทนโจทก์ด้วย

Share