คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2031/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ลูกหนี้มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินการลงทุนลูกหนี้ในฐานะตัวแทนต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝืมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในการนำเงินของเจ้าหนี้ไปลงทุนตาม ป.พ.พ. มาตรา 807 วรรคสอง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม การที่ลูกหนี้นำเงินของเจ้าหนี้ไปซื้อลดตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัท ก. และเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินสั่งจ่ายให้แก่ ม. กับมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ส. เป็นผู้อาวัล เป็นการลงทุนโดยไม่ปฏิบัติตามหนังสือยืนยันนโยบายการลงทุนที่ลูกหนี้มีถึงประธานคณะกรรมการของเจ้าหนี้ว่า จะลงทุนในตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรองจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามที่ตัวการได้มอบหมาย ซึ่งผลปรากฏต่อมาว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้ แม้เจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องเรียกเงินตามตั๋วแลกเงินจากผู้สั่งจ่าย ผู้อาวัล และผู้สลักหลัง กับได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของผู้อาวัลและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้ว แต่ไม่เป็นที่แน่นอนว่าเจ้าหนี้จะได้รับเงินครบถ้วนหรือไม่ การกระทำของลูกหนี้จึงเป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ลูกหนี้ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดเมื่อวัที่ 3 ธันวาคม 2545
เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนและค่าอากรแสตมป์รวมเป็นเงิน 124,006,226.24 บาท จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 104 แล้ว กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน เจ้าหนี้รายที่ 4 คัดค้านว่าเจ้าหนี้ยังไม่ส่งคำแถลงหนี้จึงไม่ทราบที่มาแห่งหนี้ และผู้ชำระบัญชีของลูกหนี้คัดค้านว่าตามหลักฐานทางบัญชีไม่ปรากฏเจ้าหนี้รายนี้และในงบดุล ณ วันที่ 23 สิงหาคม 2544 ซึ่งเป็นวันเลิกบริษัทลูกหนี้ก็ไม่ปรากฏว่ามีหนี้รายการนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วทำความเห็นว่า เจ้าหนี้ไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน คงมีสิทธิได้รับชำระหนี้เฉพาะค่าอากรแสตมป์เป็นเงิน 10,336 บาท เห็นควรให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นเงิน 10,336 บาท ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 107 (3) ส่วนที่ขอเกินมาให้ยกเสีย
ศาลล้มลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าหนี้อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติว่า เจ้าหนี้ได้ทำสัญญาแต่งตั้งลูกหนี้เป็นผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่จัดการบริหารการเงินของเจ้าหนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ตามข้อบังคับของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ทำหนังสือเสนอนโยบายการลงทุนต่อเจ้าหนี้โดยมีนโยบายข้อหนึ่งว่า การลงทุนในตั๋วแลกเงินจะลงทุนในตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรอง เจ้าหนี้เห็นชอบกับนโยบายดังกล่าว ต่อมาลูกหนี้นำเงินของเจ้าหนี้ไปลงทุนโดยซื้อลดตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัทกิตติภูมิ เพลส จำกัด และเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินสั่งจ่ายให้แก่นายมานจำนวน 7 ฉบับ เป็นเงินฉบับละ 10,000,000 บาท มีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้อาวัล ตั๋วแลกเงินดังกล่าวได้มีการสลักหลังโดยนายมาน และโอนต่อเนื่องไม่ขาดสายจนถึงเจ้าหนี้ ครั้นถึงกำหนดจ่ายเงินในวันที่ 9 กันยายน 2540 เจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินทั้งเจ็ดฉบับ เจ้าหนี้ในฐานะผู้ทรงตั๋วแลกเงินทั้งเจ็ดฉบับดังกล่าวได้ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2541 คดีหมายเลขดำที่ 21255/2541 เรียกเงินตามตั๋วแลกเงินพร้อมดอกเบี้ยจากบริษัทกิตติภูมิ เพลส จำกัด บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) และนายมาน ในฐานะผู้สั่งจ่ายผู้อาวัล และผู้สลักหลังตามลำดับ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2542 เจ้าหนี้มีหนังสือแจ้งไปยังลูกหนี้ให้ชำระค่าเสียหายกรณีกระทำผิดสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนเป็นเงิน 70,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ลูกหนี้ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วไม่ชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2543 คดีหมายเลขดำที่ 1721/2543 เรียกค่าเสียหายกรณีกระทำผิดสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนเป็นเงิน 96,389,788 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากลูกหนี้กับพวกต่อมาบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ในฐานะผู้ทรงได้นำมูลหนี้ตามตั๋วแลกเงินดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ผู้อาวัลตั๋วแลกเงิน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2543 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นเงิน 72,560,794.24 บาท ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้มีว่า เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับชำระหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนหรือไม่ เห็นว่า สัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนตามเอกสารหมาย จ.2 เป็นสัญญาที่เจ้าหนี้ในฐานะตัวการแต่งตั้งลูกหนี้เป็นตัวแทนนำเงินของเจ้าหนี้ไปจัดการบริหารให้เกิดผลประโยชน์แก่เจ้าหนี้โดยเจ้าหนี้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่ลูกหนี้ตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 6.1 การที่เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนเป็นกรณีที่ตัวการเรียกร้องค่าเสียหายจากตัวแทน ซึ่งหน้าที่และความรับผิดชอบของตัวแทนต่อตัวการมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 812 ว่า “ถ้ามีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างใดๆ เพราะความประมาทเลินเล่อของตัวแทนก็ดีเพราะไม่ทำการเป็นตัวแทนก็ดี หรือเพราะทำการโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจก็ดี ท่านว่าตัวแทนจะต้องรับผิด” เจ้าหนี้มีหนังสือรับรองของลูกหนี้ตามเอกสารหมาย จ.7 ระบุว่า ลูกหนี้มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินการลงทุนหลายประเภทถือว่าลูกหนี้เป็นผู้มีวิชาชีพเป็นอาชีพประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการเงินการลงุทน การนำเงินของเจ้าหนี้ไปลงทุนลูกหนี้ในฐานะตัวแทนต้องใช้ความระมัดระวังและใช้ฝีมือเท่าที่เป็นธรรมดาจะต้องใช้ และสมควรจะต้องใช้ในกิจการดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 807 วรรคสอง ประกอบมาตรา 659 วรรคสาม การที่ลูกหนี้นำเงินของเจ้าหนี้ไปซื้อลดตั๋วแลกเงินที่ออกโดยบริษัทกิตติภูมิ เพลส จำกัด และเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินสั่งจ่ายให้แก่นายมานกับมีบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) เป็นผู้อาวัล ตามเอกสารหมาย จ..9 ถึง จ.15 เป็นการลงทุนโดยไม่ปฏิบัติตามหนังสือยืนยันนโยบายการลงทุนที่ลูกหนี้มีถึงประธานคณะกรรมการของเจ้าหนี้ตามเอกสารหมาย จ.8 ว่า จะลงทุนในตั๋วแลกเงินที่ธนาคารรับรอง จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตัวแทนโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามที่เจ้าหนี้ผู้เป็นตัวการได้มอบหมาย ซึ่งผลปรากฏในเวลาต่อมาว่าเจ้าหนี้ไม่สามารถเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินทั้งเจ็ดฉบับนั้นได้ แม้เจ้าหนี้ได้ยื่นฟ้องเรียกเงินตามตั๋วแลกเงินจากผู้สั่งจ่าย ผู้อาวัล และผู้สลักหลัง กับได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของผู้อาวัลและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้แล้วก็ตาม แต่กรณีไม่เป็นที่แน่นอนว่าเจ้าหนี้จะได้ร้บเงินครบถ้วนหรือไม่ ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่าการกระทำของลูกหนี้เป็นเหตุให้เจ้าหนี้ได้รับความเสียหาย ลูกหนี้จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่เจ้าหนี้ สำหรับจำนวนเงินค่าเสียหายที่เจ้าหนี้ขอมาคือต้นเงินตามตั๋วแลกเงิน 7 ฉบับเป็นเงิน 70,000,000 บาท กับดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินตามตั๋วนับแต่วันถึงกำหนดชำระเงินตามตั๋ว คือวันที่ 9 กันยายน 2540 ถึงวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดคือวันที่ 3 ธันวาคม 2545 เป็นไปตามข้อตกลงความรับผิดชอบที่เจ้าหนี้กับลูกหนี้ทำไว้ในสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 5.1 และ 5.3 เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้ตามจำนวนดังกล่าว ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ซึ่งเห็นว่าลูกหนี้ไม่ผิดสัญญาไม่ต้องรับผิดในค่าเสียหายส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 70,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 9 กันยายน 2540 ถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2545 จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 130 (7) โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากบริษัทกิตติภูมิ เพลส จำกัด นายมานและกองทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สยามซิตี้ ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) แล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลล้มละลายกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share