แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่าหากผู้เช่าซื้อผิดสัญญา เงินที่ชำระแล้วทั้งหมดจะถูกริบและต้องส่งคืนทรัพย์ที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อย หากไม่ส่งคืนจนต้องดำเนินการยืดทรัพย์ออกขายเงินขาดอยู่เท่าใด ผู้เช่าซื้อต้องชำระจนครบ ข้อสัญญานี้เป็นการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ดังนั้นจึงต้องสืบพยานโจทก์จำเลยฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับค่าเสียหายก่อน.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์เก๋งของโจทก์ไป 1 คันเป็นเงิน 403,520 บาท โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1ชำระแล้วในวันทำสัญญา 46,000 บาท และจะชำระอีก 48 งวด งวดละเดือนแต่ผิดนัดไม่ชำระตั้งแต่งวดที่ 9 ซึ่งจะต้องชำระเป็นเงิน 7,449 บาท แต่ชำระเพียง 5,504 บาท แล้วไม่ชำระอีก 2 งวดติดกัน จึงถือว่าสัญญาเลิกกันตามข้อ 8 เงินที่จำเลยที่ 1 ชำระแล้วทั้งหมดถูกริบเป็นของโจทก์ และต้องส่งมอบรถคืนในสภาพเรียบร้อย แต่จำเลยที่ 1 ไม่ส่งคืน โจทก์ติดตามเอาคืนได้ในภายหลังปรากฏว่ารถเสียหายมาก โจทก์ขายได้ 168,000 บาท ราคารถยังขาดอยู่อีก 124,424 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องชำระตามสัญญาข้อ 9 และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดชอบร่วมด้วยตามสัญญาค้ำประกันโจทก์ทวงถามแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ราคาที่ขาด 124,424 บาทแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะใช้เงินเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์แล้ว 116,096 บาท ยังขาดอยู่เพียง 287,424 บาทรถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพเรียบร้อย หากขายจะได้ราคา 300,000 บาทจำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและถือว่าสัญญาเลิกกัน เมื่อโจทก์ยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาได้แล้วขายไป จะเรียกราคาที่ยังขาดไม่ได้ เป็นการเรียกเอาราคารถสองต่อและถือไม่ได้ว่าเป็นการเรียกค่าเสียหาย จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 9 ซึ่งจำเลยสมัครใจทำสัญญาดังกล่าวเอง และข้อสัญญาดังกล่าวไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ เมื่อผู้เช่าซื้อผิดสัญญาไม่ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อ คงครอบครองใช้อยู่โดยไม่ชอบ จนผู้ให้เช่าซื้อต้องดำเนินการยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมา อันเป็นการทำให้ผู้ให้เช่าซื้อเสียหาย ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์ได้ติดตามยึดรถคืน ปรากฏว่ารถอยู่ในสภาพเสียหายมากเนื่องจากการใช้โดยปราศจากความระมัดระวังเยี่ยงวิญญูชนของจำเลยที่ 1 เบี้ยปรับที่กำหนดตามสัญญานี้หากสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ จึงต้องสืบพยานโจทก์จำเลยฟังข้อเท็จจริงต่อไปก่อน ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน.