คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1832-1833/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างที่จำเลยกำลังรับโทษในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่6) พ.ศ. 2526 ออกใช้บังคับแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ให้เป็นคุณแก่จำเลยยิ่งกว่ามาตรา 91 เดิมอันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้มาตรา 91 ที่แก้ไขใหม่บังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 (1)
กระทงหนักที่สุดของจำเลยทั้งสองคือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 313 และ 289 ซึ่งมีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 91 (3) ที่แก้ไขใหม่และจำเลยทั้งสองถูกลงโทษมีกำหนดคนละ 100 ปี แม้จะเปลี่ยนโทษมาจากโทษจำคุกตลอดชีวิต 2 กระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 เดิมก็ไม่ถือว่าศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตต่อไปแล้ว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 91 (3) ที่แก้ไขใหม่ จำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับการกำหนดโทษเสียใหม่ตามมาตรา 91 (3) ที่แก้ไขแล้ว โดยศาลต้องกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้ใหม่เป็นจำคุกไม่เกินคนละ 50 ปี

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ มีความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓, ๘๓ กรรมหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๙, ๘๓ อีกกรรมหนึ่งให้ลงโทษประหารชีวิต จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ทั้งสองกระทง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๘๗๘ ประกอบด้วยมาตรา ๕๒ คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิตทั้งสองกระทง แต่เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิตเป็นโทษจำคุก ๕๐ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คนละ ๑๐๐ ปี นับโทษจำเลยที่ ๑ ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๘๑๐/๒๕๑๙ ของศาลชั้นต้น
ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องว่าได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๔ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เดิมและให้ใช้ข้อความใหม่แทนว่าเมื่อรวมกระทงลงโทษแล้ว โทษจำคุกต้องไม่เกิน ๕๐ ปีอันเป็นกฎหมายที่เป็นคุณแก่จำเลย ขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงโทษให้ด้วย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ประกอบด้วยมาตรา ๓ เป็นจำคุกคนละ ๕๐ ปี
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า มีปัญหาว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับการกำหนดโทษใหม่หรือไม่ เห็นว่า ระหว่างจำเลยทั้งสองกำลังรับโทษในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วอยู่นั้น ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๒๖ ออกใช้บังคับโดยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้เป็นคุณแก่จำเลยทั้งสองยิ่งกว่าเดิมซึ่งแก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ ๑๑ อันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำผิด จึงต้องใช้มาตรา ๙๑ ที่แก้ไขใหม่บังคับแก่คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓ (๑) ด้วยมาตรา ๙๑ ที่แก้ไขใหม่บัญญัติให้ศาลลงโทษผู้กระทำความผิดทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดต่อไปนี้ …. (๓)ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตและโดยที่กระทงที่หนักที่สุดของจำเลยทั้งสองนี้ก็คือความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๓ และ ๒๘๙ ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ประหารชีวิต กรณีจึงต้องด้วยมาตรา ๙๑ (๓) และคดีนี้ศาลลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองมีกำหนดคนละ ๑๐๐ ปีแม้จะเปลี่ยนโทษมาจากโทษจำคุกตลอดชีวิต ๒ กระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ เดิมก็ตาม ก็ไม่ถือว่าศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตอีกต่อไปแล้ว จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา ๙๑ (๓) ที่แก้ไขใหม่ดั่งฎีกาของโจทก์ ต้องถือว่าเป็นการลงโทษจำคุกตามที่เปลี่ยนไปโดยผลของกฎหมายแล้ว ยังผลให้จำเลยทั้งสองได้รับสิทธิในการกำหนดโทษเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ (๓) ที่แก้ไขแล้ว โดยศาลต้องกำหนดโทษจำคุกจำเลยทั้งสองให้ใหม่เป็นโทษจำคุกไม่เกินคนละ ๕๐ ปี
พิพากษายืน.

Share