คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4497/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างโจทก์ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย 202,314 บาท และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1ยอมรับผิดทำสัญญาชดใช้ค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนแต่เมื่อถึงกำหนดชำระเงิน จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย จะเห็นได้ว่า คำฟ้องโจทก์มุ่งเน้นเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อันมีมูลฐานมาจากการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์เป็นข้อสำคัญซึ่งโจทก์ต้องบรรยายฟ้องให้แจ้งชัดว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินและสินค้าโจทก์ไปเมื่อใด เงินที่ยักยอกเป็นจำนวนเท่าใด สินค้าที่ยักยอกเป็นสินค้าประเภทใด จำนวนเท่าใดและราคาเท่าใด หรือมิฉะนั้นโจทก์จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินหรือรายการสินค้าที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกไปแนบมาท้ายฟ้องด้วย และแม้โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาก็ตาม แต่หนี้ตามสัญญาก็มีมูลฐานมาจากการที่โจทก์กล่าวหาจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ถึงการมีอยู่ จำนวน และความสมบูรณ์แห่งหนี้ดังกล่าวได้ เมื่อโจทก์มิได้กล่าวแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหากับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องดังกล่าว คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31 เป็นคำฟ้องเคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขายดูแลพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัด โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันในความเสียหายหรือความผิดใด ๆ ที่จำเลยที่ 1 ได้ก่อขึ้นในระหว่างการเป็นพนักงานของโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 202,314บาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 ทั้งหมดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 ได้ขอเข้าทำสัญญารับผิดรับใช้ให้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญาปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดตลอดมา โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 232,611 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 202,314 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยยักยอกหรือทุจริตต่อหน้าที่จำเลยที่ 2 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์โดยสำคัญผิดในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งนิติกรรมว่าจำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์จริง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 และคำฟ้องของโจทก์ก็เคลือบคลุมโดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่าเงินและสินค้าของโจทก์ที่อ้างว่า จำเลยที่ 1 ยักยอกนั้นมีรายละเอียดเป็นอย่างไร ทั้งไม่ได้แนบเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับเงินและสินค้าดังกล่าวมาในฟ้องด้วย ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจในคำฟ้องและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาตามประเด็นแห่งคดีที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยโจทก์อ้างด้วยว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามสัญญารับผิดรับใช้ซึ่งเป็นหนี้ที่มีกำหนดจำนวนแน่นอนมิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดในมูลหนี้ละเมิด เพราะมูลหนี้ละเมิดระงับไปแล้วนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนที่เป็นข้ออ้างและข้อหาว่า ประมาณเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2542 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 202,314 บาท และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2534 จำเลยที่ 2 ได้ขอเข้าทำสัญญารับผิดรับใช้กับโจทก์ โดยตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือน รายละเอียดปรากฏตามหนังสือรับผิดรับใช้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เมื่อถึงกำหนดชำระเงินตามสัญญา จำเลยที่ 2 ผิดนัดตลอดมา โจทก์ได้ทวงถามแล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายจำนวน 202,314 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี และโจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมุ่งเน้นถึงการเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้อันมีมูลฐานมาจากการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์เป็นข้อสำคัญ ซึ่งโจทก์จะต้องบรรยายในคำฟ้องโดยกล่าวแสดงให้แจ้งชัดว่า จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ไปเมื่อใด เงินที่ยักยอกเป็นจำนวนเท่าใด สินค้าที่ยักยอกเป็นสินค้าประเภทใด จำนวนเท่าใด และราคาเท่าใด หรือมิฉะนั้นโจทก์ก็จะต้องมีเอกสารหรือหลักฐานที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินหรือรายการสินค้าที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกไปแนบมาท้ายฟ้องด้วย แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญารับผิดรับใช้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ด้วยก็ตาม แต่หนี้ตามสัญญารับผิดรับใช้ก็มีมูลฐานมาจากที่โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ ซึ่งจำเลยที่ 2 ย่อมยกเป็นข้อต่อสู้ถึงการมีอยู่ จำนวน และความสมบูรณ์แห่งหนี้ดังกล่าวได้เมื่อโจทก์มิได้กล่าวแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหากับข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องจำเลยที่ 1 ยักยอกเงินและสินค้าของโจทก์ไป คำฟ้องของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31 เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share