แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการ หรือปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนิน กิจการตามปกติต่อไปได้ เมื่อลูกหนี้มีกิจการเฉพาะโรงงานผลิตกระดาษและผลิตกล่องกระดาษแต่โรงงานดังกล่าว อยู่ระหว่างสัญญาเช่ากับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในโรงงานดังกล่าวในขณะที่ยื่น คำร้องขอ ลูกหนี้ยังไม่อาจปรับปรุงฟื้นฟูกิจการในการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวได้ ทั้งการให้เช่าโรงงานของลูกหนี้ ก็มีสัญญาเช่าเพียงรายเดียวคือสัญญาเช่าระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ 2 เท่านั้นซึ่งกำหนดค่าเช่าแน่นอน หาใช่กรณีลูกหนี้ประกอบกิจการทำเป็นธุรกิจในการเช่าทรัพย์สินอันจะต้องมีการจัดการบริหารดำเนินงานในทางธุรกิจการค้าไม่ กรณีจึง ไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/10
พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/9 วรรคสาม บัญญัติว่า “ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านวันนัด ไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็น ผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้
” และในบทนิยามมาตรา 90/1″ “เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน” จึงเห็นได้ว่ากฎหมายล้มละลายส่วนการฟื้นฟูกิจการให้สิทธิเจ้าหนี้ทุกประเภทยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟู กิจการเพื่อปกป้องสิทธิของตน ส่วนคำว่า “เจ้าหนี้” นั้น คือผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้
ผู้ร้องขอ (ลูกหนี้) ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อนำโรงงานในขณะที่ตกอยู่ในภาระการเช่าแก่ผู้คัดค้านที่ 2 มาดำเนินกิจการ แต่ตามสัญญาเช่าโรงงานดังกล่าวผู้คัดค้านที่ 2 ในฐานะผู้เช่าชอบที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ใน โรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลาการเช่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 537 และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้เช่า จึงมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/9 วรรคสาม
ย่อยาว
ผู้ร้องขอซึ่งเป็นลูกหนี้ยื่นคำร้องขอขอศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ และตั้งให้นายอำนาจเป็นผู้ทำแผน หากศาลยังไม่มีคำสั่งตั้งผู้ทำแผนก็ให้ตั้งนายอำนาจเป็นผู้บริหารชั่วคราว
ผู้คัดค้านที่ ๑ ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้คัดค้านที่ ๒ ยื่นคำคัดค้านว่า กิจการของลูกหนี้ยังไม่มีช่องทางที่จะขยายกิจการเนื่องจากเป็นการผลิตเพื่อ ตอบสนองความต้องการในท้องถิ่นและจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น จึงไม่มีประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการเพราะไม่สามารถชำระหนี้ดังที่ลูกหนี้อ้างได้ ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้คัดค้านที่ ๓ ยื่นคำคัดค้านว่า เมื่อลูกหนี้ไม่ได้ประกอบกิจการผลิตกระดาษ ลูกหนี้จึงไม่มีรายได้จากการจำหน่ายกระดาษและกล่องกระดาษ แต่รายได้ของลูกหนี้มาจากค่าเช่าโรงงานเท่านั้น กิจการของลูกหนี้ไม่มีช่องทาง ที่จะฟื้นฟูกิจการได้ คำร้องขอฟื้นฟูกิจการจึงเป็นเท็จและไม่มีเหตุที่ขอฟื้นฟูกิจการได้ตามกฎหมาย ขอให้ยกคำร้องขอ
ระหว่างนัดฟังคำสั่ง ผู้คัดค้านที่ ๓ ขอถอนคำคัดค้าน ศาลอนุญาต ผู้คัดค้านที่ ๑ ขอถอนคำคัดค้านเฉพาะส่วนการขอฟื้นฟูกิจการ ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนคำคัดค้านเฉพาะส่วนได้ ส่วนคำคัดค้านในส่วนอื่นจะรวมไปสั่งเมื่อมีคำพิพากษา
ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ว มีคำสั่งยกคำร้องขอ ให้ผู้ร้องขอชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านที่ ๒ โดยกำหนดค่าทนายความ ๒,๐๐๐ บาท
ผู้ร้องขออุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องขอว่า กรณีมีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้หรือไม่ เห็นว่า ในการฟื้นฟูกิจการนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้กิจการของ ลูกหนี้ซึ่งประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว ได้มีโอกาสฟื้นฟูกิจการหรือปรับโครงสร้างกิจการของลูกหนี้เพื่อให้กิจการของลูกหนี้กลับคืนสู่สภาพที่สามารถดำเนินกิจการตามปกติต่อไปได้ คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังยุติในชั้นนี้ว่า ลูกหนี้เป็นเจ้าของกิจการและโรงงานผลิตกระดาษและกล่องกระดาษ ลูกหนี้ให้ผู้คัดค้านที่ ๒ เช่าโรงงานดังกล่าวมีกำหนด ๓ ปี ขณะยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ สัญญาเช่ายังไม่ครบกำหนด ผู้คัดค้านที่ ๒ เป็นผู้ครอบครองและ ทำประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า เช่นนี้ เมื่อลูกหนี้มีกิจการเฉพาะ แต่โรงงานดังกล่าวอยู่ระหว่างสัญญาเช่า ผู้คัดค้านที่ ๒ จึงเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในโรงงานดังกล่าวในขณะที่ยื่นคำร้องขอ ลูกหนี้ยังไม่อาจปรับปรุงฟื้นฟูกิจการหในการประกอบกิจการโรงงานดังกล่าวได้ ทั้งการให้เช่าโรงงานของลูกหนี้ ก็มีสัญญาเช่าเพียงรายเดียวคือสัญญาเช่าระหว่างลูกหนี้กับผู้คัดค้านที่ ๒ เท่านั้น ซึ่งมีกำหนดค่าเช่าแน่นอน หาใช่กรณีลูกหนี้ประกอบกิจการทำเป็นธุรกิจในการให้เช่าทรัพย์สินอันจะต้องมีการจัดการบริหารดำเนินงานในทางธุรกิจการค้าแต่อย่างใด กรณีจึงไม่มีเหตุอันสมควรและมีช่องทางที่จะฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๑๐
สำหรับที่ผู้ร้องขออุทธรณ์ว่าผู้คัดค้านที่ ๒ ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ของลูกหนี้จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้านคำร้องขอ ฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอได้ และผู้ร้องขอไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านที่ ๒ นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๙ วรรคสาม บัญญัติว่า “ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้อาจยื่นคำคัดค้านก่อนวันนัดไต่สวนนัดแรกไม่น้อยกว่าสามวัน ในกรณีที่เป็นการคัดค้านผู้ทำแผน ลูกหนี้หรือเจ้าหนี้จะเสนอชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ทำแผนด้วยหรือไม่ก็ได้
” และในบทนิยามมาตรา ๙๐/๑ ” “เจ้าหนี้” หมายความว่า เจ้าหนี้มีประกันหรือเจ้าหนี้ไม่มีประกัน” จึงเห็นได้ว่ากฎหมายล้มละลายส่วนการฟื้นฟูกิจการให้สิทธิเจ้าหนี้ทุกประเภทยื่นคำคัดค้านคำร้องขอฟื้นฟูกิจการ เพื่อปกป้องสิทธิของตน ส่วนคำว่า “เจ้าหนี้” นั้น คือผู้มีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ เช่นนี้เมื่อผู้ร้องขอยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการเพื่อนำโรงงานในขณะที่ตกอยู่ในภาระการเช่าแก่ผู้คัดค้านที่ ๒ มาดำเนินกิจการ ตามสัญญาเช่าโรงงาน ดังกล่าวผู้คัดค้านที่ ๒ ในฐานะผู้เช่าชอบที่จะได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในโรงงานอย่างใดอย่างหนึ่งชั่วระยะเวลา การเช่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๕๓๗ และมีสิทธิเรียกร้องให้ลูกหนี้ปฏิบัติหน้าที่ของตนในฐานะผู้ให้เช่า จึงมีฐานะเป็น เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิยื่นคำคัดค้านการขอฟื้นฟูกิจการของผู้ร้องขอดังกล่าวตาม พ.ร.บ. ล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๙๐/๙ วรรคสาม
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.