คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองทำสัญญาค้ำประกันการทำงานของ ค. กับจำเลย และนำโฉนดที่ดินมอบให้แก่จำเลยยึดถือไว้เป็นหลักประกัน ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันระบุว่า ในการขอคืนหลักประกันจะกระทำได้ต่อเมื่อ ค. สิ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน โดยไม่ได้กระทำการใดให้นายจ้างเสียหาย เมื่อ ค. ลาออกจากการเป็นลูกจ้างจำเลย จึงเป็นการสิ้นสภาพการเป็นพนักงาน สัญญาค้ำประกันของโจทก์ทั้งสองย่อมระงับสิ้นไป แม้ ค. ทำหนังสือยินยอมเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการขอคืนหลักทรัพย์ใหม่ ก็หามีผลผูกพันโจทก์ทั้งสองไม่ และข้อความในสัญญาค้ำประกันฉบับหลังหาใช่เป็นการขยายข้อความที่ว่า โดยไม่ได้กระทำการใดให้นายจ้างเสียหายตามสัญญาค้ำประกันเดิม ดังนั้นจำเลยจึงต้องคืนโฉนดที่ดินหลักทรัพย์ค้ำประกันแก่โจทก์ทั้งสอง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ ฉต. 19212 ตำบลเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก พร้อมบ้านทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น ที่ตั้งอยู่บนที่ดินแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้องและฟ้องแย้งขอบังคับโจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 128,401.48 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 117,600 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องแย้งไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า นายคธาเทพไม่ได้จงใจหรือละทิ้งหน้าที่ไม่เก็บเงินจากลูกค้า 5 ราย ให้แก่จำเลย เนื่องจากได้ย้ายไปประจำเขตอื่นพ้นความรับผิดชอบไปแล้ว และการที่นายคธาเทพทำหนังสือให้คำยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันเอกสารหมาย ล. 9 ว่า ถอนหลักทรัพย์ประกันคืนได้ต่อเมื่อนายคธาเทพสิ้นสุดการเป็นพนักงานและจำเลยได้รับชำระค่าสินค้าที่ลูกค้าสั่งซื้อจากนายคธาเทพครบถ้วนนั้น โจทก์ทั้งสองไม่ได้ยินยอมด้วย พิพากษาให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ ฉต. 19212 แก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นให้ยกและยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเพียงข้อเดียวว่า โจทก์ทั้งสองมีสิทธิขอรับโฉนดที่ดินเลขที่ ฉต. 19212 คืนจากจำเลยหรือไม่ ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2538 นายคธาเทพได้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์ยาของจำเลยให้แก่ลูกค้าตามภูมิภาคต่าง ๆ มีโจทก์ทั้งสองเข้าเป็นผู้ค้ำประกันการทำงานมีความรับผิดชอบร่วมกันในวงเงิน 300,000 บาท และโจทก์ทั้งสองได้มอบโฉนดที่ดินเลขที่ ฉต. 19212 ให้แก่จำเลยไว้เป็นหลักประกันด้วย ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล. 8 ต่อมาวันที่ 1 มกราคม 2541 นายคธาเทพได้ลาออกจากการทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลย หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2541 โจทก์ทั้งสองได้มีหนังสือขอให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินเลขที่ ฉต. 19212 แก่โจทก์ทั้งสอง ตามหนังสือเรื่องถอนการค้ำประกันให้ส่งโฉนดที่ดินคืนและใบตอบรับ แต่จำเลยไม่คืน และยังฟังได้อีกว่า นายคธาเทพขายเวชภัณฑ์ยาให้แก่ลูกค้าของจำเลยรวม 5 ราย แต่ขณะเมื่อถึงกำหนดเก็บเงินค่าสินค้าเวชภัณฑ์ยาจากลูกค้า นายคธาเทพได้ย้ายไปรับผิดชอบในเขตอื่น ภาระความรับผิดชอบของนายคธาเทพซึ่งจะต้องเก็บเงินจากลูกค้าจึงตกได้แก่พนักงานขายคนใหม่ การที่ลูกค้าทั้งห้ารายผิดนัดชำระหนี้ค่าสินค้าเวชภัณฑ์ยาแก่จำเลยจึงไม่อยู่ในความรับผิดของนายคธาเทพ โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องชำระเงินตามฟ้องแย้งแก่จำเลย เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2540 นายคธาเทพได้ทำหนังสือให้คำยินยอมปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การขอถอนคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันเอกสารหมาย ล. 9 ไว้ต่อจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมไว้จากข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาดังกล่าว เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย ล. 8 ข้อ 5 ระบุว่า “…และในการขอถอนคืนหลักทรัพย์ในการค้ำประกันจะกระทำได้ต่อเมื่อนายคธาเทพได้สิ้นสุดสภาพจากการเป็นพนักงานของบริษัทแล้วเป็นเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่พ้นสภาพการจ้างดังกล่าว โดยไม่ได้กระทำการใดให้นายจ้างเสียหาย เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากนายจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนทุกครั้ง…” ดังนั้นเมื่อปรากฏว่านายคธาเทพได้ลาออกจากการทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยโดยที่ไม่ปรากฏว่านายคธาเทพได้กระทำการใดให้จำเลยเสียหายแล้ว จำเลยจำต้องคืนโฉนดที่ดินเลขที่ ฉต. 19212 แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนการที่นายคธาเทพยินยอมลงลายมือชื่อในหนังสือให้คำยินยอมตามเอกสารหมาย ล. 9 ก็ผูกพันเฉพาะนายคธาเทพผู้ที่ตกลงยินยอมแต่เพียงผู้เดียว หามีผลผูกพันถึงโจทก์ทั้งสองผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นผู้มอบโฉนดที่ดินอันเป็นหลักทรัพย์ประกันที่มิได้ตกลงยินยอมด้วยไม่ ทั้งข้อความในหนังสือให้ความยินยอมตามเอกสารหมาย ล 9 ที่ว่า การขอคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันจะกระทำได้ต่อเมื่อนายคธาเทพสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างและจำเลยได้รับการชำระหนี้การสั่งซื้อสินค้าจากลูกค้าที่นายคธาเทพเป็นผู้ขายสินค้าให้ไว้ครบถ้วนแล้ว ก็เห็นได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหลักเกณฑ์ในการขอคืนหลักทรัพย์ใหม่ตามที่กำหนดไว้เดิมในหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับแรกข้อ 5 ที่กำหนดว่า โจทก์ทั้งสองจะถอนคืนหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ต่อเมื่อนายคธาเทพสิ้นสุดสภาพการเป็นลูกจ้างโดยที่นายคธาเทพมิได้กระทำการใดให้จำเลยเสียหาย ข้อความในเอกสารหมาย ล. 9 ดังกล่าวหาใช่เป็นการขยายข้อความที่ว่า “โดยไม่ได้กระทำการใดให้จำเลยเสียหาย” ในสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย ล. 9 ดังที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยคืนโฉนดที่ดินอันเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share