แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้จำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญ อันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนด แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามมาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามมาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่36664, 57923, 57924, 57925, 57926, 57927, 58719, 58720 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 651, 1312 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามคำขอโอนฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์กลับมาเป็นชื่อโจทก์ทั้งสองหรือผู้รับจำนองเดิมโดยมีภาระผูกพันเช่นเดิม และมีคำสั่งห้ามมิให้จำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวแก่บุคคลภายนอก หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา ศาลล้มละลายกลางมีคำพิพากษาให้จัดการทรัพย์มรดกของนายปราโมทย์หรือพีรศักดิ์ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำร้องขอเข้าว่าคดีแทนโจทก์ทั้งสอง และแต่งตั้งทนายโจทก์ทั้งสองให้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป และกระทรวงการคลังยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยถูกยุบเลิกตามกฎหมายแล้ว อำนาจหน้าที่ต่าง ๆ ได้โอนมายังกระทรวงการคลัง และโจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกบริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด เข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
จำเลยร่วมให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 36664, 57923, 57924, 57925, 57926, 57927, 58719, 58720 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 651, 1312 ตำบลกะรน อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตามคำขอฉบับลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2553 หากจำเลยและจำเลยร่วมไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและจำเลยร่วม ให้จำเลยและจำเลยร่วมร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เดิมธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ยื่นฟ้องนายปราโมทย์หรือพีรศักดิ์ (ผู้ตาย) ให้ชำระหนี้และบังคับจำนองที่ดินพิพาท 10 แปลง ต่อศาลจังหวัดภูเก็ต ระหว่างพิจารณาคดีจำเลยเข้ารับโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวอันเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารฯ ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จำเลยจึงเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ศาลจังหวัดภูเก็ตมีคำพิพากษาตามยอม ต่อมาจำเลยมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินพิพาทและขายทอดตลาด แต่ไม่มีผู้เข้าสู้ราคา จำเลยจึงรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไว้ หลังจากนั้นจำเลยโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยร่วม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมว่า กรณีมีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มีบทบัญญัติให้บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยจำเลยมีอำนาจปรับโครงสร้างหนี้ ปรับโครงสร้างกิจการ จำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้หรือจำหน่ายหนี้สูญอันเป็นการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามวิธีการที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าว แม้จำเลยจะเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนตามบทบัญญัติ มาตรา 30 เพื่อเข้ามาดำเนินคดีต่อไป กรณีไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดบังคับให้จำเลยต้องดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้โดยวิธีการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งอย่างเดียว แต่จำเลยมีอำนาจดำเนินการบังคับเอากับทรัพย์สินของลูกหนี้ได้ตามพระราชกำหนดดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 82 อันเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้ยกเว้นการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามพระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 74 และมาตรา 76 ถูกต้องครบถ้วนแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 82 ซึ่งบัญญัติห้ามเพิกถอนการจำหน่ายทรัพย์สินตามวิธีการที่กำหนดไว้ในมาตรา 76 การโอนที่ดินพิพาทของจำเลยและจำเลยร่วมจึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อวินิจฉัยมาดังกล่าวแล้ว คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของจำเลยร่วมอีกต่อไปเพราะไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษา ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ