คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4491/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่จอดรถไว้ในช่องเดินรถช่องทางด่วนซ้ายสุดโดยไม่เปิดไฟฉุกเฉิน ไม่แสดงเครื่องหมายจราจรหรือสัญญาณจราจรอื่นใดไว้บริเวณท้ายรถ ซึ่งตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินรถได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภทลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบพยานหลักฐานใดที่จะแสดงให้เป็นไปตามข้ออ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งไม่นำสืบหักล้างให้เห็นได้ว่า ย. กระทำผิดโดยมีส่วนประมาทด้วยเช่นไร กรณีจึงต้องรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมด จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 746,438 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 719,815 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 503,870.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดไม่เกิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระเงิน 746,438 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 719,815 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน 400,000 บาท และค่ารักษาพยาบาลของนายยิ่งยศ จำนวน 6,865 บาท ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 รวมเป็นเงิน 406,865 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2549 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ษ – 5689 กรุงเทพมหานคร จากบริษัทไซน์แอนด์ซิลค์สกรีนเซอร์วิส จำกัด มีระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2548 ถึงวันที่ 2 กรกฎาคม 2549 รถยนต์คันนี้ต่อมาเปลี่ยนหมายเลขทะเบียนเป็น ฐอ 5689 กรุงเทพมหานคร และโจทก์ยังรับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ด้วย จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหัวลากรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70 – 1574 นครปฐม ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในขณะเกิดเหตุและมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้รับประกันวินาศภัย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548 เวลาประมาณ 11 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกหัวลากรถพ่วงคันดังกล่าวไปตามคำสั่งหรือได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 2 มาตามถนนพหลโยธินขาออกจากด้านหลักสี่มุ่งหน้ารังสิตในช่องเดินรถช่องทางด่วน ด้วยความประมาทจำเลยที่ 1 ได้จอดรถยนต์บรรทุกหัวลากพ่วงดังกล่าวซึ่งเครื่องยนต์ขัดข้องเสียอยู่บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเมอรี่คิงส์รังสิต ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่เวลา 11 นาฬิกา ของวันดังกล่าวโดยจอดรถในช่องเดินรถช่องทางด่วนด้านซ้ายสุดติดกับขอบปูนกั้นระหว่างทางด่วนและทางคู่ขนานโดยไม่เปิดไฟฉุกเฉินและไม่แสดงเครื่องหมายจราจรหรือสัญญาณจราจรอื่นใดไว้บริเวณท้ายรถเพื่อให้ผู้ขับรถยนต์คันอื่นเห็นว่ารถเกิดอุบัติเหตุจอดอยู่ กระทั่งเวลาประมาณ 5 นาฬิกาของวันที่ 27 พฤศจิกายน 2548 นายยิ่งยศ ขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน 4 ษ – 5689 กรุงเทพมหานคร หรือ ฐอ 5689 กรุงเทพมหานคร มาตามถนนในทิศทางเดียวกัน เมื่อถึงที่เกิดเหตุซึ่งมีแสงสว่างไม่เพียงพอที่จะเห็นได้ในระยะไกล รถยนต์ที่นายยิ่งยศขับจึงเฉี่ยวชนท้ายรถยนต์บรรทุกหัวลากพ่วงที่จอดอยู่ได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้นายยิ่งยศได้รับบาดเจ็บ ต่อมาพนักงานสอบสวนได้ตรวจที่เกิดเหตุและลงความเห็นว่าเหตุละเมิดดังกล่าวเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยการคืนทุนประกันภัยเป็นเงิน 1,050,000 บาท ให้ผู้เอาประกันภัยและขายซากรถได้เงิน 337,050 บาท คงเหลือค่าเสียหายอีก 712,950 บาท และจ่ายค่ารักษาพยาบาลนายยิ่งยศให้แก่โรงพยาบาลปทุมเวช 6,865 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นฝ่ายประมาทหรือไม่ ข้อนี้โจทก์มีนายยิ่งยศเบิกความเป็นพยานว่า ในวันเกิดเหตุพยานขับรถคันหมายเลขทะเบียน 4 ษ – 5689 หรือ ฐอ 5689 กรุงเทพมหานคร โดยเปิดไฟหน้ารถด้วยเนื่องจากถนนยังมืดอยู่และไฟหน้ารถสามารถมองเห็นถนนได้ในระยะ 25 เมตร ดังนั้น ตามที่จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้และอ้างในฎีกาว่านายยิ่งยศมิได้เปิดไฟหน้ารถไว้ในขณะเกิดเหตุ จึงทำให้ไม่เห็นรถของจำเลยที่ 2 ที่จอดอยู่นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าเหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่จอดรถไว้ในช่องเดินรถช่องทางด่วนซ้ายสุดโดยไม่เปิดไฟฉุกเฉินไม่แสดงเครื่องหมายจราจรหรือสัญญาณจราจรอื่นใดไว้บริเวณท้ายรถ ซึ่งตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 61 บัญญัติไว้ว่า ในเวลาที่มีแสงสว่างไม่เพียงพอที่ผู้ขับขี่จะมองเห็นรถที่จอดในทางเดินรถได้โดยชัดแจ้งในระยะไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยห้าสิบเมตร ผู้ขับขี่ซึ่งจอดรถในทางเดินรถหรือไหล่ทางต้องเปิดไฟหรือใช้แสงสว่างตามประเภทลักษณะและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้นำสืบพยานหลักฐานใดที่จะแสดงให้เป็นไปตามข้ออ้างว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งไม่นำสืบหักล้างให้เห็นได้ว่า นายยิ่งยศกระทำผิดโดยมีส่วนประมาทด้วยเช่นไร กรณีจึงต้องรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบมาทั้งหมด จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ในความเสียหายที่เกิดขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share