คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7571/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.วิ.อ. มาตรา 258 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียม มิใช่เป็นค่าธรรมเนียม และตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้วแต่กรณี คดีนี้ ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความเป็นทนายผู้ร้องและได้ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ผู้ร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนแก่ผู้ร้องได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 80, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และริบอาวุธมีดพร้าของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพข้อหามีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและข้อหาพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพข้อหาพาอาวุธมีดไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ส่วนข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
ระหว่างพิจารณา นางวาส ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเนื่องจากผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กาย ต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนาจนประกอบกรณียกิจไม่ได้ตั้งแต่วันทำละเมิดเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 มาตรา 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 371 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น จำคุก 10 ปี ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน ความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ทางพิจารณาจำเลยที่ 1 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนลูกซองยิงจำเลยที่ 2 ในที่เกิดเหตุ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 6 ปี 8 เดือน ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เป็นของผู้อื่น ซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกฐานละ 3 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 6 ปี 14 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย จำคุก 1 ปี ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ปรับ 100 บาท ทางพิจารณาจำเลยที่ 2 นำสืบว่าใช้อาวุธมีดพร้าฟันจำเลยที่ 1 จริง เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือน ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงปรับ 50 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 8 เดือน และปรับ 50 บาท หากจำเลยที่ 2 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 ริบอาวุธมีดพร้าของกลาง และให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ร้อง 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้แก่ผู้ร้องเสร็จสิ้น กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเฉพาะในส่วนค่าทนายความแทนผู้ร้องเป็นเงิน 4,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 และมาตรา 288, 81 ประกอบมาตรา 60 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้โดยพลาดเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ จำคุก 5 ปี ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน เมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี 10 เดือน ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความแก่ผู้ร้อง 4,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร แล้วจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงจำเลยที่ 2 กระสุนปืนถูกจำเลยที่ 2 มีบาดแผลทางเข้าบริเวณอกขวา ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.7 เซนติเมตร ทำให้มีลมรั่วใต้ผิวหนัง กระสุนปืนลูกปรายฝังใต้ผิวหนังบริเวณอกขวา 1 ลูก และกระสุนปืนลูกปรายทางเข้าบริเวณต้นแขนซ้าย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.9 เซนติเมตร กระสุนปืนลูกปรายฝังบริเวณต้นแขนซ้าย 1 ลูก ใช้เวลารักษาประมาณ 2 สัปดาห์ การบาดเจ็บดังกล่าวไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต และกระสุนถูกผู้เสียหายมีบาดแผลทางเข้าเม็ดลูกปรายของกระสุนปืนลูกซองบริเวณคอด้านซ้าย ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร กระสุนฝังใน ใช้เวลารักษา 14 วัน หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต ตามผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ขณะเดียวกันจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธมีดพร้าฟันจำเลยที่ 1 มีบาดแผลฉีกขาดที่แขนขวา 8 เซนติเมตร ระยะเวลารักษาประมาณ 10 วัน ตามผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ สำหรับจำเลยที่ 1 ความผิดฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองไม่ได้รับใบอนุญาตและความผิดฐานพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและโดยไม่มีเหตุสมควร และจำเลยที่ 2 ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การรับสารภาพความผิดฐานดังกล่าว ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์ ความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนที่ผู้เสียหายขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือจำเลยที่ 2 กระทำโดยบันดาลโทสะหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 พูดคุยกับจำเลยที่ 2 นางสุจินต์และผู้เสียหายแล้ว จำเลยที่ 2 และนางสุจินต์เข้าใจว่า จำเลยที่ 1 รู้เห็นและมีส่วนเกี่ยวข้องพาคนมาทำพิธีขอหวยที่ต้นตะเคียนของผู้เสียหาย จึงแสดงความไม่พอใจจำเลยที่ 1 และเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่พอใจจำเลยที่ 2 เช่นกัน อันเป็นสาเหตุให้มีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกันจนกระทั่งจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ใช้มีดพร้าเป็นอาวุธฟันแขนขวาจำเลยที่ 1 ตอบโต้กันทันที จึงเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาทแล้วต่อสู้ซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เป็นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่จำเลยทั้งสองจะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 และแม้จำเลยที่ 2 มีความไม่พอใจจำเลยที่ 1 ที่ตวาดนางสุจินต์ภริยาของตน แต่เมื่อจำเลยที่ 2 สมัครใจที่จะไปต่อสู้กับจำเลยที่ 1 เองก็ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 2 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมที่จำเลยที่ 2 จะอ้างว่ากระทำไปเพราะเหตุบันดาลโทสะเช่นเดียวกัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ปรับบทกฎหมายการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81 และฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้โดยพลาด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 81, 60 ชอบหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถือว่ามีเจตนาฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 80 เพราะอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธร้ายแรงตามสภาพนั้น เห็นว่า โจทก์มิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในปัญหาข้อนี้ จำเลยที่ 2 จะฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ดังกล่าวไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นโจทก์หรือโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้มาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อนี้
อนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ซึ่งมีคำขอของผู้เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนมิให้เรียกค่าธรรมเนียม จึงพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าทนายความแก่ผู้ร้อง 4,000 บาท นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 258 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยค่าฤชาธรรมเนียมมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ค่าทนายความเป็นค่าฤชาธรรมเนียม มิใช่เป็นค่าธรรมเนียม และตามมาตรา 167 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมลงไว้ในคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีหรือในคำสั่งจำหน่ายคดีออกจากสารบบความแล้วแต่กรณี ดังนั้น คดีนี้ผู้ร้องแต่งตั้งทนายความเป็นทนายผู้ร้องและได้ทำหน้าที่ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่งที่ผู้ร้องขอให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้จำเลยที่ 1 ใช้แทนแก่ผู้ร้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ยกคำพิพากษาส่วนนี้ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะในส่วนที่ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความแก่ผู้ร้อง 4,000 บาท ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 โดยให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8

Share