คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 971-996/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การตั้งวางและจัดที่ขายของบนทางเดินเท้าริมถนนคอนกรีตซึ่งอยู่ติดกับตลาดและบางรายก็รุกล้ำเข้าไปในถนนคอนกรีต. เป็นการวางสิ่งกีดขวางตามทางเข้าสู่ตลาด. ต้องห้ามตามเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชน พ.ศ.2487ข้อ 13.
เทศบัญญัติดังกล่าวข้อ 8(6) ซึ่งกำหนดทางเดินในระหว่างร้าน แท่น หรือโต๊ะที่วางขายของ ต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร. และข้อ 18(1) ที่กำหนดให้วางสิ่งของที่ขายอยู่ในขอบเขตของร้าน ห้ามมิให้วางล้ำออกมานั้น. ใช้บังคับเกี่ยวกับเรื่องการรักษาสุขลักษณะเฉพาะร้านซึ่งเข้าขายของในตลาดเท่านั้น. จะนำมาใช้กับร้านขายของอุปโภคของจำเลยซึ่งอยู่ภายนอกตลาดหาได้ไม่.
กรณีวางสิ่งกีดขวางตามทางเข้าสู่ตลาดมิใช่เหตุรำคาญตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2484 มาตรา19. ศาลจึงไม่มีอำนาจจะสั่งห้ามให้ผู้ที่วางสิ่งกีดขวางร่นส่วนที่ล้ำออกมานั้นเข้าไปภายในขอบเขตร้านของผู้นั้นได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยทั้ง 26 สำนวนมีข้อความทำนองเดียวกันว่า ได้ตั้งวางและจัดที่ขายของล้ำออกมาจากขอบเขตของร้านที่ขายของกีดขวางในตลาดและตามทางเข้าตลาดพาหุรัด ซึ่งเป็นตลาดเอกชนเหตุเกิดที่ในตลาดพาหุรัด ตำบลวังบูรพา อำเภอพระนคร จังหวัดพระนครขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พุทธศักราช 2484 มาตรา46, 67 เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชน พุทธศักราช2487 ข้อ 8(6), 13, 18(1), 22 กับขอให้ศาลสั่งให้จำเลยร่นส่วนที่ล้ำออกมานั้นเข้าไปภายในขอบเขตร้านของจำเลยด้าน จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ และต่อสู้ในปัญหาข้อกฎหมายว่า สถานที่เกิดเหตุไม่ใช่ตลาดสดตามความหมายของเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชน พุทธศักราช 2487 และฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม สถานที่เกิดเหตุเป็นตลาดเล็กมีการขายอาหารสด จึงเป็นตลาดตามความหมายในข้อ 4แห่งเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชน พ.ศ. 2487 ทางที่เกิดเหตุเป็นทางเท้าประชาชนใช้เดินเข้าออกสู่ตลาดพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 26 คนผิดตามฟ้อง ให้ปรับคนละ 50 บาท กับให้จำเลยทั้ง 26 คนร่นส่วนที่ล้ำออกมานั้นเข้าไปภายในขอบเขตร้านของจำเลย จำเลยทั้ง 26 สำนวนอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมาย 1. ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม 2. ทางเดินเท้า จะปรับเข้าเป็น “ทางเข้าสู่ตลาด” ตามเทศบัญญัติไม่ได้ 3. การวางรุกล้ำไม่เป็นการกีดขวางทางเข้าสู่ตลาด 4. เทศบัญญัติจะมีประกาศใช้บังคับอย่างไร จำเลยไม่ทราบ 5. กฎหมายไม่ได้ให้อำนาจศาลที่จะบังคับให้จำเลยร่นส่วนที่ล้ำเข้าไปในเขตร้าน โจทก์มีคำขอเช่นนั้นไม่ได้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า 1. ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม 2. ทางยกพื้นซีเมนต์ด้านหลังตึก ไม่มีลักษณะเป็นทางเข้าสู่ตลาด 3. จำเลยไม่ได้ฝ่าฝืนเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชน พ.ศ. 2487 จำเลยวางขายของล้ำออกจากแผงลอยในตลาดลงไปในถนนคอนกรีตไม่ทำให้เกิดความขัดข้องหรือไม่สะดวกกีดขวางแก่ทางสัญจร อุทธรณ์ข้อ 4, 5 ไม่จำต้องวินิจฉัย พิพากษากลับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ทางยกพื้นซิเมนต์หลังตึกติดกับถนนคอนกรีตเป็นแนวยาวไปตามถนนคอนกรีตซึ่งเป็นทางอยู่ติดกับตลาด เป็นทางเท้าเข้าสู่ตลาด พวกจำเลยตั้งวางและจัดที่ขายของตรงทางเท้าเต็มเนื้อที่และบางรายรุกล้ำเข้าไปในถนนคอนกรีต เป็นการวางสิ่งกีดขวางตามทางเข้าสู่ตลาด ทำให้เกิดความขัดข้องหรือไม่สะดวกกีดขวางทางจราจร อันเป็นการต้องห้ามตามเทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชนพ.ศ. 2487 ข้อ 13 เทศบัญญัติของเทศบาลนครกรุงเทพเรื่องตลาดเอกชน พ.ศ. 2487ข้อ 8(6) ซึ่งกำหนดทางเดินในระหว่างร้าน แท่น หรือโต๊ะที่วางของขาย ต้องมีขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 2 เมตร ข้อ 18(1) ที่กำหนดให้วางสิ่งของที่ขายอยู่ในขอบเขตของร้าน ห้ามมิให้วางล้ำออกมาเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับเรื่องการรักษาสุขลักษณะและใช้บังคับเฉพาะร้านซึ่งเข้าขายของในตลาดเท่านั้น จะนำมาใช้กับพวกจำเลยซึ่งขายของอุปโภคอยู่ภายนอกตลาดตามคดีนี้หาได้ไม่ ศาลจะมีอำนาจสั่งผู้กระทำผิดให้ทำการตามคำสั่งของเจ้าพนักงานหรือให้ระงับการกระทำตามพระราชบัญญัติสาธารณสุขพ.ศ. 2484 ได้เฉพาะกรณีที่เป็นเหตุรำคาญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 19เท่านั้น กรณีวางสิ่งกีดขวางตามทางเข้าสู่ตลาด มิใช่เหตุรำคาญศาลจึงไม่มีอำนาจจะสั่งห้ามให้จำเลยร่นส่วนที่ล้ำออกมานั้นเข้าไปภายในขอบเขตร้านของจำเลย พิพากษากลับ และให้ยกคำขอให้สั่งจำเลยร่นส่วนที่ล้ำออกมาเข้าไปภายในชอบเขตร้านของจำเลยเสีย.

Share