คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4490/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามที่กล่าวอ้างในคำฟ้อง
กรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยหลังจากยื่นฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) นั้น ศาลแรงงานกลางจะเรียกให้ตามที่ขอหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางจึงเป็นข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่เรียกเป็นการไม่ชอบ จึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน ฯ มาตรา 54
การที่โจทก์ทำงานบกพร่อง ขาดความสามารถ หรือไม่สามารถทำงานร่วมกับพนักงานอื่น เป็นเพียงคุณลักษณะส่วนตัวของโจทก์ ไม่ใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์จึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างประจำของจำเลย ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้า เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีค่าจ้างค้างชำระ พร้อมด้วยดอกเบี้ย

ก่อนจำเลยยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเรียกนายสภา ปาลเสถียรและนางสาวมากาเร็ต อลิซ ฮีลี่ เข้ามาเป็นจำเลยร่วมอ้างว่าเป็นกรรมการของจำเลยเป็นนายจ้าง ศาลแรงงานกลางสั่งยกคำร้อง

จำเลยให้การว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ขาดความสามารถในการทำงานบกพร่องในหน้าที่เป็นการเสียหายแก่บริษัทจำเลยโจทก์ขาดมนุษยสัมพันธ์กับพนักงานทำให้การดำเนินงานในบริษัทจำเลยขาดประสิทธิภาพ การเลิกจ้างจึงเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องมีมนุษยสัมพันธ์ไม่ดีกับผู้ร่วมงาน จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย แต่ต้องจ่ายเงินอื่น พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมด้วยดอกเบี้ย

โจทก์จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้ออุทธรณ์ของโจทก์เรื่องหน้าที่นำสืบที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยรับว่าเลิกจ้างโจทก์โดยยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่จำเลยจึงมีหน้าที่นำสืบก่อนนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การเลิกจ้างเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยให้การว่าการเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่เป็นธรรมแล้วดังนี้โจทก์จึงมีหน้าที่นำสืบว่าจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมตามที่กล่าวอ้างในฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้โจทก์เป็นฝ่ายมีหน้าที่นำสืบก่อนจึงชอบแล้ว

ข้อที่โจทก์อุทธรณ์ว่าศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่เรียกนายสภา ปาลเสถียรและนางสาวมากาเร็ต อลิซ ฮีลี่ กรรมการของบริษัทจำเลยเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยเป็นการไม่ชอบ เพราะบุคคลทั้งสองเป็นกรรมการของจำเลย ถือว่าเป็นนายจ้างของโจทก์และต้องร่วมรับผิดกับจำเลยด้วยนั้น เห็นว่ากรณีที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยหลังจากยื่นฟ้องแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(3)(ก) นั้น เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยศาลแรงงานกลางจะเรียกให้ตามที่ขอหรือไม่ ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ไม่ได้

สำหรับข้ออุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า การที่โจทก์ทำงานบกพร่องขาดความสามารถหรือไม่สามารถทำงานร่วมกับพนักงานอื่น จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าชดเชยนั้น เห็นว่าการที่โจทก์ทำงานขาดประสิทธิภาพดังกล่าว เป็นเพียงคุณลักษณะส่วนตัวของโจทก์ไม่ใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงาน กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นที่จำเลยจะไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 583 และกรณีไม่ต้องด้วยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47 เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จำเลยต้องจ่ายเงินทั้งสองประเภทให้โจทก์

พิพากษายืน

Share