แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้นของบริษัท ณ. ระหว่างโจทก์ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อ ข้อ 2 ระบุว่าจำเลยได้ชำระค่าโอนหุ้นให้แก่โจทก์ด้วยเช็ค 5 ฉบับ รวมเป็นเงิน 500,000 บาท และข้อ 4 ระบุว่า โจทก์ยินยอมลงลายมือชื่อโอนหุ้นของบริษัทดังกล่าวให้แก่จำเลยภายใน 7 วันนับจากวันทำสัญญานี้ ถือว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัท ณ. ยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ต้องทำแบบที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัท ณ. ในหมวด 2 ข้อ 4ว่าด้วยเรื่องหุ้นและผู้ถือหุ้น การซื้อขายหุ้นจึงหาตกเป็นโมฆะไม่
คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็คชำระค่าหุ้น แต่โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าหุ้นจากจำเลยรวมถึงไม่อาจยึดเงินค่าหุ้นที่จำเลยได้ชำระให้โจทก์แล้วได้ ซึ่งจำเลยฟ้องแย้งโจทก์ไว้และฎีกาขึ้นมา แต่เป็นฎีกาที่ต้องห้าม ทำให้คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาขัดกัน ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 146 วรรคหนึ่ง โดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนหุ้นให้จำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณปี 2538 จำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษกห้วยขวางให้แก่โจทก์จำนวน 3 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 300,000บาท เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์นำไปเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คและดอกเบี้ยรวมจำนวน 315,489 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทเพื่อชำระหนี้ค่าหุ้นบริษัทณัชปภา จำกัด ซึ่งตกลงซื้อขายกันในราคา 500,000 บาท โดยจำเลยสั่งจ่ายเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษกห้วยขวาง ให้แก่โจทก์จำนวน 5 ฉบับ ฉบับละ 100,000 บาทรวมเป็นเงิน 500,000 บาท แต่การโอนหุ้นตกเป็นโมฆะ เพราะไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนด จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็ค ระหว่างดำเนินการโอนหุ้น โจทก์ขอให้จำเลยชำระเงิน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์ก่อนจำเลยจึงยินยอมให้ธนาคารชำระเงินตามเช็ค 2 ฉบับ ให้โจทก์ไป แต่โจทก์ไม่จัดการโอนหุ้นให้แก่จำเลย จำเลยจึงไม่ยินยอมให้ธนาคารชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง และให้บังคับโจทก์ใช้เงินจำนวน 215,492 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 200,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องแย้งจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่ต้องคืนเงินจำนวน 215,492 บาทให้แก่จำเลยเพราะเป็นการชำระหนี้ค่าหุ้นตามบันทึกการโอนหุ้นฉบับลงวันที่ 6กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารการโอนหุ้นและหนังสือมอบอำนาจเพื่อให้จำเลยไปดำเนินการโอนหุ้นแล้วแต่จำเลยกลับเพิกเฉย เป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องและให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 200,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้ง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 316,489 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 300,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบโดยมิได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าเมื่อประมาณปี 2537 โจทก์จำเลยร่วมกับบุคคลอื่นเข้าหุ้นกันก่อตั้งบริษัทณัชปภา จำกัด มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการร้านอาหาร โจทก์ถือหุ้นจำนวน 2,500 หุ้น จำเลยถือหุ้นจำนวน 3,000 หุ้น ต่อมาโจทก์ตกลงขายหุ้นของโจทก์ทั้งหมดให้แก่จำเลยในราคา 500,000 บาท โดยตกลงว่าโจทก์ต้องลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้จำเลยภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญาตามบันทึกลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538 เอกสารหมาย ล.3 จำเลยสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนรัชดาภิเษกห้วยขวาง เพื่อชำระค่าหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ 5 ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท ลงวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 15 ของเดือนถัดไปจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2538ตามลำดับ ต่อมาโจทก์นำเช็คดังกล่าวของจำเลยสองฉบับแรกไปเรียกเก็บเงินและได้เงินจากธนาคารไปแล้ว แต่เช็คพิพาทสามฉบับหลังของจำเลยธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ตามสำเนาเช็คและใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.8
จำเลยฎีกาขอให้โจทก์ชำระเงินตามคำฟ้องแย้งของจำเลยโดยขอให้ชำระเงิน 200,000 บาท ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแย้ง ทุนทรัพย์พิพาทในชั้นฎีกาตามคำฟ้องแย้งจึงมีเพียง 200,000 บาท เมื่อจำเลยฎีกาเกี่ยวกับฟ้องแย้งว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเนื่องจากไม่โอนหุ้นให้จำเลย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง คดีคงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเกี่ยวกับฟ้องเดิมว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา เนื่องจากไม่โอนหุ้นให้จำเลย จำเลยต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์หรือไม่ ตามบันทึกข้อตกลงการซื้อขายหุ้นของบริษัทณัชปภา จำกัด ระหว่างโจทก์ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อตามเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 2 ระบุว่าจำเลยได้ชำระค่าโอนหุ้นให้แก่โจทก์ด้วยเช็ค 5 ฉบับจำนวนเงินฉบับละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 500,000 บาทและตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในข้อ 4 ระบุว่า โจทก์ยินยอมลงลายมือชื่อโอนหุ้นของบริษัทดังกล่าวให้แก่จำเลยภายใน 7 วัน นับจากวันทำสัญญานี้ซึ่งบันทึกข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเอกสารหมาย ล.3 แม้จะกล่าวถึงเรื่องที่โจทก์ยินยอมถอนหุ้นจากบริษัทณัชปภา จำกัด โดยจำเลยยินยอมชำระเงินค่าถอนหุ้นดังกล่าวให้โจทก์เป็นเงิน 500,000 บาท ก็ถือได้ว่าบันทึกข้อตกลงดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นสัญญาซื้อขายหุ้นของบริษัทณัชปภา จำกัดระหว่างโจทก์ผู้ขายกับจำเลยผู้ซื้อ เมื่อจำเลยสั่งจ่ายเช็ค 5 ฉบับ ชำระราคาค่าโอนหุ้นให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนโดยการลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้แก่จำเลยภายใน 7 วัน นับจากวันทำสัญญาตามข้อตกลงในเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 7 ซึ่งบันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมายล.3 ถือว่าเป็นสัญญาซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยกันนั้น ยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ต้องทำแบบที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัทตามเอกสารหมาย ล.2 ในหมวด 2 ข้อ 4 ว่าด้วยเรื่องหุ้นและผู้ถือหุ้น จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยการโอนหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 วรรคสองและข้อบังคับของบริษัทดังกล่าวมาใช้บังคับได้ บันทึกข้อตกลงตามเอกสารหมาย ล.3 ระหว่างโจทก์กับจำเลยดังกล่าวสมบูรณ์ใช้บังคับได้ หาทำให้การซื้อขายหุ้นตกเป็นโมฆะไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานการโอนหุ้นที่โจทก์ลงลายมือชื่อในช่องผู้โอนไว้ตามเอกสารหมาย จ.11 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2540 อันเป็นเวลาภายหลังที่จำเลยซึ่งมีหน้าที่นำสืบก่อนสืบพยานเสร็จสิ้นลงแล้วและโจทก์ก็ไม่ได้ตัวนายเอกรัตน์ ทัศนภักดิ์ ที่โจทก์อ้างว่ารู้เห็นการที่โจทก์ลงลายมือชื่อโอนหุ้นตามเอกสารหมาย จ.11 มาเบิกความ โจทก์คงมีแต่นายศุลพี ศรีแสงฟ้ามาเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่าทราบจากนายเอกรัตน์ว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.11 ส่วนนายพันธุ์วุฒิ สว่างเนตร ที่โจทก์นำเข้าเบิกความก็เพียงเพื่ออ้างส่งเอกสารหมาย จ.11 เป็นพยานเท่านั้น เพราะไม่รู้เห็นการที่อ้างว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.11 คงทราบมาจากนายศุลพีอีกต่อหนึ่งเท่านั้น พยานโจทก์สองปากดังกล่าวจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังได้ว่าโจทก์ลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้แก่จำเลยไว้แล้วภายใน 7 วันจากวันทำสัญญา ประกอบกับจำเลยคัดค้าน การที่โจทก์ยื่นเอกสารดังกล่าวโดยมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยก่อนด้วย จึงทำให้เอกสารหมาย จ.13 รับฟังไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังว่าโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อโอนหุ้นให้แก่จำเลยภายใน 7 วัน ตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 4 ทั้ง ๆ ที่โจทก์รับเช็คชำระค่าโอนหุ้นจากจำเลยไปครบถ้วนแล้ว ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนหุ้นดังกล่าวให้จำเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนโดยการโอนหุ้นของบริษัทณัชปภา จำกัด ให้แก่จำเลย แต่โจทก์ผิดสัญญาไม่โอนหุ้นดังกล่าวเสียเอง จำเลยจึงไม่มีหน้าที่ต้องชำระเงินค่าโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์เช่นกัน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์
อนึ่ง คดีนี้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยออกเช็คชำระค่าหุ้น แต่โจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาการโอนหุ้น แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินค่าหุ้นจากจำเลยได้อันรวมไปถึงการไม่อาจยึดถือไว้ซึ่งเงินค่าหุ้นที่จำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วได้และเงินค่าหุ้นจำนวนที่จำเลยได้ชำระให้แก่โจทก์ไปแล้วดังกล่าว จำเลยได้ฟ้องแย้งโจทก์ไว้และฎีกาขึ้นมา แต่เป็นฎีกาที่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง จึงทำให้คำวินิจฉัยในส่วนนี้ของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาขัดกันต้องบังคับตามมาตรา 146 วรรคหนึ่งโดยถือตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่โอนหุ้นให้จำเลย ดังนั้น โจทก์ต้องคืนเงินค่าหุ้นที่ได้รับไปแล้วแก่จำเลยพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไป ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้โจทก์คืนเงินดังกล่าวแก่จำเลยได้”
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น