แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันในเรื่องภาษีโรงเรือนในคดีนี้นั้นเป็นของโจทก์ นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังแจ้งรายการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2529 และ พ.ศ.2530 ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้มายังโจทก์โดยตรงในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับประเมินภาษีโรงเรือน ทั้งโจทก์ก็ไปชำระภาษีประจำปี พ.ศ.2529 และ พ.ศ.2530 ตามจำนวนที่ได้รับประเมินในนามของโจทก์เองพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็ยอมรับชำระภาษีดังกล่าวไว้เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือน เมื่อโจทก์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เรียกเก็บภาษีเกินไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินไปนั้นคืนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ในการประเมินค่ารายปีอาคารพิพาทในปี พ.ศ.2529 เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.2526 กับปี พ.ศ.2528 นั้น เพราะพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1พบว่า อาคารชั้นลอยในโกดังใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น แต่มิได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจนว่าใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง การกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นแต่ละรายการก็มิได้ให้เหตุผล ส่วนที่อ้างว่าการกำหนดค่ารายปีของอาคารพิพาทต่ำไปเมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรือนหลังอื่นซึ่งมีสภาพเดียวกันและอยู่ในละแวกเดียวกัน ก็ปรากฏว่าโรงเรือนของโจทก์ตั้งอยู่ในถนนซอยและสถานที่ที่มีความเจริญน้อยกว่า ยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ ยิ่งกว่านั้น ค่ารายปีที่ประเมินเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2529 ก็สูงกว่าในปีพ.ศ.2528 ถึงกว่าหนึ่งเท่าตัว ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลาห่างกันเพียง 1 ปี โดยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ามีเหตุผลสมควรอย่างไร จึงขึ้นค่ารายปีมากเช่นนั้น แต่ พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 บัญญัติให้ถือค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุผลตามที่จำเลยนำสืบว่าโรงเรือนพิพาทควรมีค่ารายปีสูงขึ้นเพียงใด ในการคำนวณค่ารายปีของปี พ.ศ.2529 จำเลยจึงต้องถือค่ารายปีในปี พ.ศ.2528เป็นหลัก
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือน สำหรับปี พ.ศ.๒๕๒๘ (หรือปีชำระภาษี พ.ศ.๒๕๒๙) เป็นเงิน๒๑๖,๘๗๐ บาท และ ๒๑๔,๒๙๓.๗๕ บาท ตามลำดับ กับให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ และเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนที่วินิจฉัยให้โจทก์ต้องเสียภาษีโรงเรือน สำหรับปี พ.ศ.๒๕๒๙ (หรือปีชำระภาษี พ.ศ.๒๕๓๐) เป็นเงิน๒๑๖,๘๗๐ บาท และ ๒๑๔,๒๙๓.๗๕ บาท ตามลำดับ และให้จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าภาษีโรงเรือนทะเบียนเลขที่ ๑๗๐/๑๕ ซอยนาคสุวรรณ ถนนสาธุประดิษฐ์แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร สำหรับปี พ.ศ.๒๕๒๘ (หรือปีชำระภาษี พ.ศ.๒๕๒๙) เป็นจำนวน ๕๘,๔๓๔.๔๐ บาท แล้วคืนส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินเป็นเงิน ๑๕๘,๔๓๕.๖๐ บาท กับให้จำเลยทั้งสองกำหนดเงินค่าภาษีโรงเรือนทะเบียนเลขที่ ๑๗๐/๑๕ ซอยนาคสุวรรณ ถนนสาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร สำหรับปี พ.ศ.๒๕๒๙ (หรือปีชำระภาษี พ.ศ.๒๕๓๐) เป็นจำนวน ๓๔,๐๖๗.๒๕ บาท แล้วคืนส่วนที่โจทก์ชำระไว้เกินเป็นเงิน ๑๘๒,๘๐๒.๗๕ บาท
จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์มิใช่เจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ผู้พึงชำระค่าภาษีในโรงเรือนพิพาท เลขที่ ๑๗๐/๑๕ ซอยนาคสุวรรณ ถนน-สาธุประดิษฐ์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ความจริงแล้วโรงเรือนรายพิพาทดังกล่าวในคดีนี้เป็นของผู้อื่น โดยโจทก์เป็นผู้รับมอบฉันทะให้ยื่นเสียภาษีในโรงเรือนดังกล่าวแทนเท่านั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้รับประเมินอันเป็นบุคคลผู้พึงชำระภาษีแต่อย่างใด เจ้าของหรือผู้มีกรรมสิทธิ์ในโรงเรือนพิพาทคดีนี้ไม่เคยโต้แย้งหรือมอบอำนาจให้โจทก์โต้แย้งว่าจำเลยกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนไม่ชอบแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ได้ประเมินโดยอาศัยหลักเกณฑ์ถูกต้องและเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว
จำเลยที่ ๒ ไม่จำต้องรับผิดตามฟ้องของโจทก์ ในฐานะส่วนตัวแต่ประการใด เพราะในฐานะส่วนตัวจำเลยที่ ๒ แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มิได้กระทำการใดในฐานะส่วนตัวอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ นอกจากนั้นจำเลยที่ ๒ ทั้งในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครไม่ต้องรับผิดคืนเงินภาษีตามที่โจทก์ฟ้องเพราะเป็นแต่เพียงผู้พิจารณาการประเมินใหม่เท่านั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ ๒ ร่วมรับผิดด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๙ และพ.ศ.๒๕๓๐ เล่มที่ ๑๒๓ เลขที่ ๒ และเล่มที่ ๒๙ เลขที่ ๑๗ ตามลำดับ และใบแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ ๒ เล่มที่ ๗ เลขที่ ๖๔ ลงวันที่ ๒๔ (ที่ถูกคือ ๒๕)กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ เสีย กับให้จำเลยที่ ๑ คืนเงินจำนวน ๒๔๕,๕๔๕.๕๐ บาทแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบมารับกันฟังยุติได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๒๙ และวันที่ ๖มีนาคม ๒๕๓๐ โจทก์ได้รับการแจ้งรายการประเมินจากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ให้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี พ.ศ.๒๕๒๙ และ พ.ศ.๒๕๓๐ตามลำดับปีละ ๒๑๖,๘๗๐ บาท ตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และ จ.๑๒ โจทก์ได้ชำระค่าภาษีดังกล่าวแล้วตามเอกสารหมาย จ.๑๑ และ จ.๑๓ และได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ ๒ ตามเอกสารหมาย จ.๑๔ และ จ.๑๕ ต่อมาจำเลยที่ ๒ได้มีคำชี้ขาดให้ลดค่าภาษีให้บางส่วนคงให้โจทก์เสียปีละ ๒๑๔,๒๙๓.๗๕ บาทตามเอกสารหมาย จ.๑๖
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า นายชัย ทองไทย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โรงเรือนและที่ดินพิพาท โจทก์เป็นเพียงผู้รับมอบอำนาจให้ยื่นเสียภาษีแทนนายชัยการที่โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนสำหรับปี พ.ศ.๒๕๒๖ ถึงปีพ.ศ.๒๕๓๐ เป็นการกระทำแทนนายชัย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้นั้น นายชัยทองไทย เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า อาคารหรือสิ่งปลูกสร้างที่พิพาทกันในเรื่องภาษีโรงเรือนในคดีนี้นั้นเป็นของโจทก์ พยานเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ยังแจ้งรายการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๙และ พ.ศ.๒๕๓๐ ซึ่งพิพาทกันในคดีนี้มายังโจทก์โดยตรงในฐานะที่โจทก์เป็นผู้รับประเมินภาษีโรงเรือนตามใบแจ้งรายการประเมินเอกสารหมาย จ.๑๐ และจ.๑๒ ทั้งโจทก์ก็ไปชำระภาษีประจำปี พ.ศ.๒๕๒๙ และ พ.ศ.๒๕๓๐ ตามจำนวนที่ได้รับประเมินในนามของโจทก์เอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ก็ยอมรับชำระภาษีดังกล่าวไว้ตามใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.๑๓ และ จ.๑๔เช่นนี้ ถือได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสียในการชำระหนี้ค่าภาษีโรงเรือน เมื่อโจทก์เห็นว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ เรียกเก็บภาษีเกินไป โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกเงินภาษีส่วนที่อ้างว่าชำระเกินไปนั้นคืนได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยทั้งสองถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วนั้น ปรากฏจากคำเบิกความนายฐิติ เชื้อสวัสดิ์พยานจำเลยซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ ๑ ผู้ทำการประเมินภาษีโรงเรือนรายนี้ว่า ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ ก่อนที่พยานจะได้กำหนดค่ารายปีเพื่อประเมินค่าภาษีนั้นพยานได้ไปตรวจอาคารพิพาทพบว่าอาคารชั้นลอยในโกดังใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น พยานจึงประเมินค่ารายปีในปี พ.ศ.๒๕๒๙ เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ.๒๕๒๖ถึงปี พ.ศ.๒๕๒๘ แต่พยานมิได้อธิบายว่าอาคารชั้นลอยในโกดังใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไรบ้าง การกำหนดค่ารายปีเพิ่มขึ้นแต่ละรายการนั้นพยานก็มิได้ให้เหตุผลอย่างชัดเจนแต่ประการใด เช่นพยานเบิกความว่ารายการที่ ๑ถึง ๓ เป็นโกดังตึกชั้นเดียว ๓ หลัง ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๘ตัวชั้นลอยของอาคารไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงไม่ได้กำหนดค่ารายปีสำหรับชั้นลอยโดยคิดค่ารายปีตารางเมตรละ ๘ บาทต่อเดือน ส่วนปีพ.ศ.๒๕๒๙ นั้น พยานประเมินค่ารายปีสำหรับโกดังตารางเมตรละ ๑๕ บาทต่อเดือน ส่วนชั้นลอยตารางเมตรละ ๑๐ บาท ต่อเดือน ฯลฯ พยานปากนี้อ้างว่าที่พยานกำหนดค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทเพิ่มขึ้นนั้นเพราะพยานเห็นว่า การกำหนดค่ารายปีของโรงเรือนพิพาทนั้นต่ำไป เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรือนหลังอื่นซึ่งมีสภาพเดียวกันและอยู่ในละแวกเดียวกัน เช่น อาคารของบริษัทเฮิกซ์ไทย จำกัดของบริษัทอาร์มสตรอง จำกัด ของบริษัทบางกอกสยามแวร์เฮาส์ จำกัดฯลฯ อย่างไรก็ตาม พยานมิได้อธิบายว่า อาคารที่นำมาเปรียบเทียบเหล่านี้มีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับโรงเรือนของโจทก์อย่างไร และอยู่ห่างกันเพียงไร ศาลฎีกาได้ตรวจดูหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.๒๗ ถึง ล.๓๔แล้ว ปรากฏว่าอาคารของบริษัทเฮิกซ์ไทย จำกัด ตั้งอยู่ที่ถนนสีลมใกล้ห้างเซ็นทรัล เขตบางรัก ขณะที่โรงเรือนพิพาทอยู่ที่ซอยนาคสุวรรณ ถนนสาธุประดิษฐ์แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา สำหรับอาคารของบริษัทบางกอกสยามแวร์เฮาส์จำกัด นั้น ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๓๕ ถึง ล.๔๐ ว่าอยู่ที่ถนนนางลิ้นจี่เห็นได้ว่าโรงเรือนของโจทก์ตั้งอยู่ในถนนซอยและสถานที่ซึ่งมีความเจริญน้อยกว่าอาคารของบริษัทเฮิกซ์ไทย จำกัด และของบริษัทบางกอกสยามแวร์เฮาส์จำกัด ยากที่จะนำมาเปรียบเทียบกันได้ นอกจากนี้ได้ความว่า ในปี พ.ศ.๒๕๒๘นั้น จำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทไว้ ๗๕๒,๗๗๘ บาท ต้องเสียภาษีโรงเรือน ๙๔,๐๙๗.๒๕ บาท แต่ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ และ พ.ศ.๒๕๓๐ จำเลยประเมินค่ารายปีสำหรับโรงเรือนพิพาทไว้ถึงปีละ ๑,๗๓๔,๙๖๐ บาท และให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนปีละถึง ๒๑๖,๘๗๐ บาท ซึ่งโจทก์ได้เสียภาษีโรงเรือนจำนวนนี้ไปแล้ว เห็นได้ว่า ในปี พ.ศ.๒๕๒๙ นั้น จำเลยประเมินค่ารายปีและให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนสำหรับโรงเรือนพิพาทสูงกว่าในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ถึงกว่าหนึ่งเท่าตัว หรือกว่า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ทั้ง ๆ ที่ระยะเวลาห่างกันเพียง ๑ ปีและโดยจำเลยไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีเหตุสมควรอย่างไรจึงขึ้นค่ารายปีและภาษีมากเช่นนั้น สำหรับเหตุผลตามกฎหมายนั้นจำเลยก็ไม่อาจยกขึ้นกล่าวอ้างได้เช่นเดียวกัน เพราะพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.๒๔๗๕ มาตรา ๑๘บัญญัติให้ถือค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา ดังนั้น ในการคำนวณค่ารายปีของปี พ.ศ.๒๕๒๙ จำเลยต้องถือค่ารายปีในปี พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นหลัก เมื่อไม่ปรากฏเหตุผลตามที่จำเลยนำสืบว่าโรงเรือนพิพาทควรมีค่ารายปีสูงขึ้นเพียงใด การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนสำหรับปี พ.ศ.๒๕๒๙ และ พ.ศ.๒๕๓๐ เท่ากับปี พ.ศ.๒๕๒๘โดยกำหนดค่ารายปีเท่ากันนั้น จึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษายืน.