คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ตายมีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายประกอบด้วย ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์มากน้อยเพียงใดก็ได้โดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตาม ป.พ.พ. มาตรา 223,442.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2527 นายประจวบจันทร์ศรี ลูกจ้างในทางการที่จ้างของจำเลยขับรถยนต์โดยสารประจำทางด้วยความเร็วสูงไม่ระมัดระวังความปลอดภัยเลี้ยวชนนายสินพงสามีโจทก์จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายจำนวน539,130 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ครอบครองรถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุไม่ได้เป็นนายจ้างนายประจวบ เหตุที่เกิดเป็นเหตุสุดวิสัยและความประมาทของผู้ตาย ค่าเสียหายสูงเกินไปขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 229,665.79 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายสินพงหรือสิ่นฟง หรือถิ่นพง หรือเตี่ยงพง แซ่ห่านได้ถูกรถยนต์โดยสารคันหมายเลขทะเบียน 10-1628 กรุงเทพมหานคร ซึ่งนายประจวบ จันทร์ศรี ลูกจ้างจำเลยเป็นผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยชนได้รับอันตรายสาหัส เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2527 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา และถึงแก่ความตายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2527เหตุเกิดที่ถนนสุขุมวิท บริเวณสี่แยกนานา ซึ่งเป็นทางเดินรถทางเดียว แต่มีช่องเดินรถประจำทางเท่านั้นที่แล่นสวนได้ ตรงที่เกิดเหตุไม่มีทางคนเดินข้ามถนน คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่า เหตุเกิดเพราะนายประจวบขับรถด้วยความประมาทโดยขับด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ไม่ระมัดระวังความปลอดภัยข้างหน้าตามฟ้องโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า เป็นความประมาทของผู้ตายฝ่ายเดียว เห็นว่าขณะเกิดเหตุนายประจวบลูกจ้างจำเลยได้ทำหน้าที่เป็นผู้ขับรถยนต์โดยสารประจำทางอันเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยและได้ครอบครองดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกล จึงเป็นกรณีอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437 ดังนั้นจึงต้องฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยจะต้องรับผิดชอบเพื่อการเสียหายอันเกิดแต่ยานพาหนะนั้นร่วมกับนายประจวบ เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการเสียหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ต้องเสียหายนั้นเอง ปรากฏว่านายประจวบหลบหนีไม่ได้ตัวมาเบิกความในชั้นพิจารณาคงมีนายศักดา ไทรเอี่ยม พนักงานอุบัติเหตุของจำเลยซึ่งไม่ได้เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ แต่ได้เรียกตัวนายประจวบและนายปิยะ เมฆสุวรรณพนักงานเก็บค่าโดยสารมาสอบปากคำในวันรุ่งขึ้น เบิกความว่า ได้ความจากบุคคลทั้งสองว่า ผู้ตายเดินข้ามถนนไปแล้วถอยหลังเข้ามาในช่องทางเดินรถประจำทางของนายประจวบในระยะกระชั้นชิด นายประจวบห้ามล้อไม่ทัน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แต่จำเลยไม่ได้นำนายประจวบไปให้การต่อพนักงานสอบสวน พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้เชื่อได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย คดีฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่าเหตุชนผู้ตายเพราะนายประจวบขับรถด้วยความเร็วสูงเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ส่วนประเด็นเรื่องค่าเสียหาย โดยจำเลยฎีกาว่าผู้ตายมีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายนั้น แม้การที่ผู้ตายไม่ข้ามถนนในทางข้ามซึ่งอยู่ไม่ห่างจากที่เกิดเหตุอันถือได้ว่าผู้ตายมีส่วนประมาทด้วยก็ตาม แต่เห็นว่านายประจวบมีส่วนประมาทมากกว่าเพราะเหตุที่ชนผู้ตายเนื่องจากนายประจวบขับรถไม่ชะลอความเร็วในขณะใกล้ถึงทางแยกเป็นสำคัญ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่าศาลอุทธรณ์กำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์สูงเกินไปนั้น เห็นว่า จำนวนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ขอมา ได้แก่ค่าขาดไร้อุปการะและค่าใช้จ่ายในการปลงศพ ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าขาดไร้อุปการะเดือนละ 2,500 บาท เป็นเวลา 7 ปี ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น รวมค่าขาดไร้อุปการะ 210,000 บาท ได้ความว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายมีอายุ58 ปี พอที่จะสามารถจะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 65 ปี ศาลล่างทั้งสองกำหนดระยะเวลาให้อีก 7 ปี จึงนับว่าพอสมควรแล้ว ส่วนค่าใช้จ่ายในการปลงศพผู้ตาย ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์รวม 67,697 บาท เห็นว่าโจทก์มีเอกสารใบรับเงินมาแสดงจึงรับฟังได้ ส่วนค่าใช้จ่ายตามเอกสารหมาย จ.12 (แผ่นที่ 2) และ จ.13 เป็นภาษาต่างประเทศ ไม่มีคำแปล แต่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้ถึง 20,000 บาทนั้น เห็นว่า โจทก์ได้แสดงบัญชีรายการค่าใช้จ่ายในการจัดการศพตามเอกสารหมาย จ.19ซึ่งรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นอีกหลายรายการ ซึ่งจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้าง ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้จึงเหมาะสมแล้ว ฉะนั้น เมื่อรวมค่ารักษาพยาบาลอีก 8,524 บาท ซึ่งไม่มีประเด็นโต้แย้งในชั้นฎีกาแล้ว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนทั้งสิ้น306,221 บาท ผู้ตายมีส่วนประมาทก่อให้เกิดความเสียหายประกอบด้วยซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 442 ศาลมีอำนาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์มากน้อยเพียงใดก็ได้ โดยอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณตามมาตรา 223 ที่ศาลล่างทั้งสองลดค่าสินไหมทดแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ลง 1 ใน 4 นั้น เป็นประโยชน์แก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุสมควรที่จะลดให้ต่ำลงไปอีก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share