คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 476/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องกล่าวหาจำเลยกระทำผิดพยายามฆ่าผู้อื่น อ้างบทมาตราที่ขอให้ลงโทษจำเลยมาแต่เพียงมาตรา 288,289,80 เมื่อ ในคำฟ้องโจทก์บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยมาแล้วว่า จำเลยยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ และยังมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย ดังนี้ ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่ามุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์อยู่ด้วย และเมื่อศาลฟังว่าจำเลยพยายามฆ่าผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์หรือพาเอาทรัพย์ไป การกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ จึงเป็นเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7), 80 อยู่แล้ว ศาลจึงไม่จำต้องปรับบทว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยอีกบทหนึ่งแต่ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่จำเลยชิงไปให้แก่เจ้าทรัพย์ในคดีเช่นนี้ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและเพิ่มเติมฟ้องว่า เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2512 เวลากลางวัน จำเลยบังอาจมีปืนพกสั้น .22 หนึ่งกระบอก ไม่มีเครื่องหมายนายทะเบียนและไม่ได้รับอนุญาตไว้ในความครอบครอง แล้วจำเลยร่วมกับนายเสน่ห์หรือดำ แก้วประกิจ ชิงเอาเงิน 1,000 บาทของนายส่งเชียะแซ่ลี้ ผู้เสียหาย โดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าทั้งนี้ เพื่อสะดวกในการลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป จำเลยกระทำไปตลอดแล้วแต่กระสุนปืนไม่ถูกที่สำคัญ ผู้เสียหายจึงไม่ตาย เพียงแต่ได้รับอันตรายสาหัส เหตุเกิดที่ตำบลบางขุนศรี อำเภอบางกอกน้อยจังหวัดธนบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 83,288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,000 บาทแก่ผู้เสียหาย

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่าจำเลยร่วมกับนายเสน่ห์ชิงทรัพย์ผู้เสียหายจริงแต่โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตรากฎหมายฐานชิงทรัพย์ว่าเป็นความผิดมาในฟ้อง จึงลงโทษในความผิดฐานชิงทรัพย์ไม่ได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7), 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ประกอบมาตรา 80, 52(1) ซึ่งเป็นกระทงหนักตามมาตรา 91 จำคุก 18 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้ตามมาตรา 76 กึ่งหนึ่งคงจำคุก 9 ปี ปรานีลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 78 คงจำคุกจำเลย 6 ปี ข้อหาอื่นให้ยก โดยที่ศาลยกฟ้องข้อหาฐานชิงทรัพย์ คำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จึงไม่บังคับให้

โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์และสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,000 บาทแก่เจ้าทรัพย์ด้วย

จำเลยอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง

ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นเดียวกับศาลชั้นต้นแต่เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษโดยว่ากำหนดโทษก่อนแล้วลดมาตราส่วนโทษตามมาตรา 76 ไม่ถูกต้อง พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7), 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. 2490 มาตรา 72 (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2510 มาตรา 3ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 แล้วให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปีนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยกระทำผิดจริงดังฟ้อง ส่วนฎีกาโจทก์ที่ขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 และให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 1,000 บาทแก่เจ้าทรัพย์ด้วยนั้น ได้ความว่าศาลล่างทั้งสองฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า จำเลยได้ร่วมทำผิดชิงทรัพย์ผู้เสียหายไปจริง แต่โจทก์ไม่ได้อ้างบทมาตราของกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดมาในฟ้อง จึงลงโทษฐานชิงทรัพย์ไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าแม้ในคำขอให้ลงโทษจำเลยท้ายคำฟ้อง โจทก์เพียงแต่อ้างมาตรา 288, 289ซึ่งเป็นความผิดต่อชีวิตมาเท่านั้นก็ดี แต่ในคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยมาแล้วว่าจำเลยยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ และยังมีคำขอท้ายฟ้องบังคับให้จำเลยคืนเงิน 1,000 บาท ให้ผู้เสียหายด้วย ดังนี้ ย่อมแปลคำฟ้องของโจทก์ได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์อยู่ด้วย

คดีนี้ จึงเป็นคดีความผิดต่อชีวิตและคดีชิงทรัพย์ สมมุติว่าข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายแต่ได้ความว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ของผู้เสียหายจริงตามคำบรรยายฟ้อง แม้โจทก์จะมิได้อ้างมาตรา 339 มาด้วยในคำขอท้ายฟ้อง ศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 339 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคท้าย แต่เมื่อคดีนี้ศาลฟังว่าจำเลยนี้กระทำผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์หรือพาเอาทรัพย์ไปการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์จึงเป็นเหตุฉกรรจ์ของความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเสียแล้วศาลย่อมไม่จำเป็นต้องปรับบทว่าจำเลยกระทำผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยอีกบทหนึ่ง เพราะการกระทำผิดฐานชิงทรัพย์เข้าประกอบอยู่ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(7) ซึ่งศาลล่างทั้งสองได้ปรับบทลงโทษจำเลยอยู่แล้ว และเมื่อความผิดตามมาตรา 289(7) นี้ มีการกระทำอันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เข้าประกอบด้วยเช่นนี้ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้

พิพากษาแก้ว่าให้จำเลยคืนหรือใช้เงิน 1,000 บาทแก่ผู้เสียหายด้วยนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share