คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4487/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในการรับจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (5) บัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ให้หักภาษีเงินได้ไว้และมาตรา 52 วรรคสอง ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียนและห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกไว้จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้จ่ายเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดมาจากจำเลย จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ดังกล่าวซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) และ 50 (5) ก่อนที่จะจ่ายให้โจทก์รับไปเมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อได้จากการขายทอดตลาด แต่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิที่จะเรียกคืนเงินภาษีที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,591,613.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,287,435.98 บาท นับแต่วันที่ 30 พฤษภาคม 2541 จนถึงวันฟ้อง และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.50 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,287,435.98 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้ยึดห้องชุดเลขที่ 80/117 ชั้นที่ 9 อาคารเลขที่ เอ ชื่ออาคารชุด ป.ธนาทาวเวอร์ 1 ทะบียนอาคารชุด เลขที่ 9/2539 ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 244972 ตำบลวังทองหลาง อำเภอบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ หากไม่พอชำระหนี้หรือชำระไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนแก่โจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองของจำเลย คือ ห้องชุดเลขที่ 80/117 โดยมีบริษัทซูเต็ก แอนด์ซันส์ จำกัด เป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 560,000 บาท ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดี ได้จัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 โดยหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยดังกล่าวคืนเงินภาษีเงินได้ที่ผู้ซื้อชำระในการรับโอนทรัพย์สินให้แก่บริษัทซูเต็ก แอนด์ซันส์ จำกัด ผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนวน 37,858 บาท โจทก์คัดค้านการคืนเงินภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีสิทธินำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองของจำเลยไปคืนให้แก่ผู้ประมูลซื้อทรัพย์จำนองจากการขายทอดตลาด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขให้หักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ไปจ่ายให้บุคคลอื่นที่มิใช่โจทก์หรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่มาร้องขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดหรือจำเลย เพื่อนำไปคืนค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความในคดี และผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดไม่มีสิทธิที่จะได้รับเงินที่ขายทอดตลาด การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดชำระคืนภาษีให้แก่ผู้ซื้อทอดตลาดก่อนจ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและผู้รับจำนอง จึงไม่เป็นไปตามกฎหมายและตามลำดับแห่งสิทธิตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีจัดทำบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงิน ครั้งที่ 1 ใหม่ โดยระงับการหักเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยคืนให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์เป็นค่าภาษีเงินได้ต่อไปด้วย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีหักเงินจากที่ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้นำไปคืนเป็นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ในการรับจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์ ประมวลรัษฎากร มาตรา 50 (5) บัญญัติให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) เฉพาะที่จ่ายให้แก่ผู้รับซึ่งขายอสังหาริมทรัพย์ให้หักภาษีเงินได้ไว้ และมาตรา 52 วรรคสอง บัญญัติว่า “……ให้ผู้มีหน้าที่หักภาษีนำส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในขณะที่มีการจดทะเบียน และห้ามพนักงานเจ้าหน้าที่ลงนามรับรู้ ยอมให้ทำหรือบันทึกไว้จนกว่าจะได้รับเงินภาษีที่นำส่งไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว….” ดังนี้ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้จ่ายเงินได้จากการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยึดมาจากจำเลย จึงมีหน้าที่หักภาษีเงินได้ดังกล่าว ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) และ 50 (5) ก่อนที่จะจ่ายให้โจทก์รับไป เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไปขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อได้จากการขายทอดตลาด จึงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายที่ให้จัดเก็บภาษีเงินได้ทันทีเมื่อมีการจดทะเบียนซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ แต่เนื่องจากผู้ซื้อทรัพย์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ดังกล่าว ผู้ซื้อทรัพย์จึงมีสิทธิที่จะเรียกคืนเงินภาษีที่ได้ทดรองจ่ายไปคืนจากเจ้าพนักงานบังคับคดี การที่เจ้าพนักงานบังคับดีแสดงบัญชีรับ – จ่าย ครั้งที่ 1 โดยระบุให้จ่ายภาษีเงินได้ดังกล่าวโดยหักจากราคาทรัพย์ที่ขายทอดตลาดได้ ก่อนจ่ายให้โจทก์รับไปจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share