คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7844/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทและให้จดทะเบียนไถ่ถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาท พร้อมกับส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินคืนโจทก์ต่อมาจำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 6 ต่อศาลแพ่งธนบุรี ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทไว้แก่จำเลย ซึ่งศาลแพ่งธนบุรีได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วว่าจำเลยที่ 6 ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. และพิพากษาให้จำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ว. หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 6 ในคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยประเด็นเดียวกันมาว่า โจทก์ได้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้จริงหรือไม่ เมื่อศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำพิพากษาโดยวินิจฉัยให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยแล้วฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีของศาลแพ่งธนบุรีก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1707, 1708 ตำบลปลายบาง (ศีศะคุ) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี เนื้อที่แปลงละ 1 งาน เมื่อประมาณต้นเดือนเมษายน 2540 โจทก์ไปติดต่อจำเลยสาขาเล่งเน่ยยี่จึงทราบว่ามีการนำที่ดินของโจทก์ทั้งสองแปลงดังกล่าวข้างต้นไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยเพื่อเป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ เป็นจำนวนเงิน 800,000 บาท ซึ่งความจริงแล้วโจทก์ไม่เคยนำที่ดินทั้งสองแปลงไปวางเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินของห้างหุ้นส่วน จำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ และไม่เคยลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันใด ๆ ไว้แก่จำเลยอีกทั้งไม่เคยกู้ยืมเงินจากจำเลย และไม่เคยไปติดต่อจำเลยที่สาขาเล่งเน่ยยี่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2537 โจทก์ไม่ได้ไปที่สำนักงานที่ดินจังหวัดนนบุรี สาขาบางใหญ่ แลไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาจำนองหรือเอกสารอื่นใดที่เกี่ยวข้อง และโจทก์มิได้มอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งลงลายมือชื่อแทนโจทก์ ลายมือชื่อในสัญญาจำนองและเอกสารอื่นๆ เป็นลายมือชื่อปลอม สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ได้ตามกฎหมาย ขอให้พิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนไถ่ถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1707, 1708 ตำบลปลายบาง (ศีศะคุ) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี และให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินดังกล่าวทั้งสองแปลงและให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวข้างต้นคืนแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน กล่าวคือ โจทก์เป็นค้ำประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ ซึ่งเป็นลูกค้าของจำเลยสาขาเล่งเน่ยยี่ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2536 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับจำเลย หลังจากนั้นได้เดินสะพัดทางบัญชีต่อกันเรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 6 กันยายน 2537 ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ ก็ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับจำเลยในวงเงิน 800,000 บาท โจทก์ได้ยินยอมเข้าผูกพันตนเองเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้เบิกเงินเกินบัญชีดังกล่าวในวงเงิน 800,000 บาท นอกจากนี้โจทก์ยังได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนวน 2 แปลงตามฟ้อง จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ดังกล่าวไว้แก่จำเลยอีกด้วย การทำสัญญาค้ำประกันและจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันนั้นโจทก์ได้มาติดต่อกันจำเลยและลงลายมือชื่อในหนังสือสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองด้วยตนเองต่อหน้าพยานและเจ้าพนักงานที่ดิน ครั้นต่อมาห้างหุ้นส่วนจำเลย วี.พี. คาร์แลนด์ ได้เบิกเงินเกินบัญชีและไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยผิดนัดชำระหนี้จำเลย จำเลยจึงได้ส่งเรื่องไปให้ฝ่ายพัฒนาหนี้ดำเนินการเร่งรัดหนี้สินและเตรียมดำเนินคดีและแจ้งให้โจทก์ทราบ โจทก์เข้าทำสัญญาจำนองที่ดินตามฟ้องโดยมีเจตนาที่จะผูกนิติสัมพันธ์ตามกฎหมายกับจำเลย สัญญาจำนองที่ดินจึงมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมาย หาได้ตกเป็นโมฆะไม่ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 1707, 1708 ตำบลปลายบาง (ศีศะคุ) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี ระหว่างโจทก์กับจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา และให้จำเลยส่งมอบต้นฉบับโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขแดงที่ 1132/2543 ของศาลแพ่งธนบุรี ระหว่าง ธนาคารศรีนคร จำกัด (มหาชน) โจทก์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ที่ 1 นายวีรพลที่ 2 นางกุลฐิติรัตน์หรือกาญจนีที่ 3 นายกรุงที่ 4 นางกมลวรรณที่ 5 นายวิโรจน์ (โจทก์ในคดีนี้) ที่ 6 จำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 หรือไม่ ปัญหานี้แม้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้และไม่ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เมื่อเห็นสมควร เพราะเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 247 ได้ตรวจดูสำเนาคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1132/2543 ของศาลแพ่งธนบุรี เอกสารหมาย ล.6 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ในคดีนี้ถูกจำเลยในคดีนี้ฟ้องเป็นจำเลยที่ 6 ในคดีดังกล่าวโดยฟ้องให้โจทก์ในคดีนี้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน และจำนองที่ดินแปลงพิพาทในคดีนี้ไว้แก่จำเลยคดีนี้ ศาลแพ่งธนบุรีได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้แล้วว่าจำเลยที่ 6 (โจทก์ในคดีนี้) ทำสัญญาค้ำประกันและจำนองที่ดินแปลงพิพาทคดีนี้เป็นประกันหนี้ของห้างหุ้นส่วน่จำกัด วี.พี.คาร์แลนด์ ศาลแพ่งธนบุรี ได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2543 พิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นจำเลยที่ 6 ร่วมรับผิดจำนวน 2,646,209.94 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี ในต้นเงิน 800,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งหกไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองโฉนดเลขที่ 1707 และ 1708 ตำบลปลายบาง (ศีศะคุ) อำเภอบางกรวย (บางใหญ่) จังหวัดนนทบุรี ของจำเลยที่ 6 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ถ้าไม่พบให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบและให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับคดีที่จำเลยคดีนี้เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยที่ 6 ในคดีดังกล่าวมีประเด็นข้อพิพาทซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยอยู่ในประเด็นเดียวกันในข้อที่ว่า โจทก์ได้ค้ำประกันและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้จริงหรือไม่ เมื่อศาลแพ่งธนบุรีได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยแล้วตามคำพิพากษาดังกล่าว ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 แม้ว่าโจทก์จะได้ฟ้องคดีนี้ไว้ก่อนคดีของศาลแพ่งธนบุรีก็ตาม แต่เมื่อศาลแพ่งธนบุรีได้พิพากษาชี้ขาดคดีแล้ว กรณีก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 144 เช่นกัน คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท

Share