แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ร้องสอดเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะหน้าที่ดินของโจทก์ โดยกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นการใช้สิทธิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1337 การเปิดประตูรั้วและมีทางสาธารณะเล็กๆ ให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ย่อมทำให้ความสะดวกในการใช้ที่ดินของโจทก์ลดน้อยลงกว่าปกติ ทั้งยังบดบังทัศนียภาพทำลายสิ่งแวดล้อมหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติที่ควรได้รับ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหาย เพื่อให้โจทก์ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์ตามปกติ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17554 และ 17555 ได้มาโดยการซื้อมาจากจำเลย เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 ก่อนที่โจทก์จะตกลงซื้อที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวจากจำเลย ที่ดินดังกล่าวจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์และอยู่ระหว่างการดำเนินการออกเอกสารสิทธิโฉนดที่ดิน ทางด้านทิศใต้ของที่ดินติดกับทางสาธารณประโยชน์ หาดทรายและแม่น้ำเจ้าพระยา ในการตกลงซื้อขายที่ดิน จำเลยตกลงที่จะส่งมอบที่ดินทั้งในส่วนที่ออกเอกสารสิทธิได้และในส่วนที่ครอบครองซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ หาดทรายและที่ดินบริเวณที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อมาเมื่อจำเลยออกเอกสารสิทธิประเภทโฉนดได้ จำเลยได้จดทะเบียนขายกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์และส่งมอบการครอบครองที่ดินซึ่งเป็นทางสาธารณประโยชน์ หาดทรายและที่ดินบริเวณที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ โจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ที่จำเลยส่งมอบดังกล่าว ต่อมาเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2537 จำเลยได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินสาธารณประโยชน์ทางด้านทิศใต้ของที่ดินสองแปลงที่จำเลยได้โอนขายให้แก่โจทก์ซึ่งจำเลยได้ส่งมอบที่ดินสาธารณประโยชน์ดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้ว โดยจำเลยได้ยกคันดินทำรั้วล้อมรอบที่ดินปิดกั้นที่ดินของโจทก์ทั้งสองโฉนดทางด้านทิศใต้ ทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์จากที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา รวมทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาได้ตามปกติ โจทก์ได้มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและปรับสภาพที่ดินให้อยู่ในสภาพเดิมแต่เพิกเฉย โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ขอให้บังคับให้จำเลยอพยพขนย้ายทรัพย์สินบริวารออกไปจากทางสาธารณประโยชน์หาดทราย และที่ดินบริเวณที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศใต้ของที่ดินของโจทก์ และทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง เสารั้วลวดหนามปรับสภาพทางสาธารณประโยชน์ในส่วนที่ติดต่อกับที่ดินของโจทก์ให้มีสภาพเดิม
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณา นางเผ่า โมกไธสงค์ ยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความด้วยการร้องสอดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า ที่ดินที่โจทก์จำเลยพิพาทกันในคดีนี้เป็นที่ดินของผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดเป็นผู้มีสิทธิครอบครองหาใช่เป็นที่ดินของโจทก์หรือของจำเลยไม่ การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท โดยกล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ผู้ร้องสอดอาจได้รับความเสียหาย ทั้งนี้ ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า ผู้ร้องสอดเข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงนี้เต็มเนื้อที่ 3 ไร่ เป็นเวลาเกินกว่า 25 ปีแล้ว ผู้ร้องสอดครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันโดยไม่ขาดตอนด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ เสียภาษีบำรุงท้องที่ต่อทางราชการมาโดยตลอด บุคคลทั่วไปทราบว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด โจทก์ยังไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ที่ซื้อไว้จากจำเลย และหากโจทก์จะใช้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โจทก์ก็ไปตามทางสาธารณประโยชน์ของหมู่บ้านได้หาจำเป็นต้องผ่านที่ดินของผู้ร้องสอดไม่ โจทก์จึงไม่มีความเสียหาย จึงขอให้ยกฟ้องของโจทก์ และขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอด
โจทก์ยื่นคำให้การแก้คำร้องสอดว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ผู้ร้องสอดไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด เมื่อกลางปี 2537 ผู้ร้องสอดเพิ่งบุกรุกทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิการเป็นบริวารของจำเลยซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านไว้แล้ว และโจทก์ได้ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้แล้วผู้ร้องสอดจึงไม่อาจครอบครองในฐานะเจ้าของ ทั้งการครอบครองของผู้ร้องสอดก็เป็นการครอบครองในฐานะบริวารของจำเลย ผู้ร้องสอดไม่อาจอ้างสิทธิการเป็นเจ้าของใดๆ ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันได้ การที่ผู้ร้องสอดทำคันดิน ปลูกพืชยืนต้น ขุดบ่อ เลี้ยงปลาปิดบังกีดขวางระหว่างที่ดินของโจทก์กับหาดทรายซึ่งเป็นทางผ่านสู่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ถูกริดรอนความสะดวก ถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษ การกระทำของผู้ร้องสอดเป็นการละเมิดและโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ส่วนคำขอของผู้ร้องสอดที่ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดนั้น เป็นคำขอที่ไม่อาจบังคับได้ เพราะที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงขอให้ยกคำร้องสอดของผู้ร้องสอด
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องสอด ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยและผู้ร้องสอดขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท ให้รื้อรั้วและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไป กับให้ปรับที่ดินพิพาทให้มีสภาพดังเดิมนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยและผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่คู่ความไม่โต้แย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์อยู่ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ร้องสอดเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะหน้าที่ดินของโจทก์ โดยกั้นรั้วระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเปิดประตูรั้วเป็นช่องให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยและผู้ร้องสอดว่า จำเลยและผู้ร้องสอดต้องขนย้ายทรัพย์สินและบริวาร รื้อถอนรั้วและสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาทและปรับที่ดินพิพาทให้มีสภาพคงเดิมหรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องสอดจะอ้างว่าได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ก็ตาม ผู้ร้องสอดย่อมไม่มีสิทธิจะกระทำการใดๆ เป็นการใช้สิทธิให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายอื่นได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินที่ควรคิดหรือคาดหมายได้ว่าจะเป็นไปตามปกติและเหตุอันควรในเมื่อเอาสภาพและตำแหน่งที่อยู่แห่งทรัพย์สินนั้นมาคำนึงประกอบ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1337 เกี่ยวกับกรณีผู้ร้องสอดไม่สร้างรั้วกั้นและเข้าไปครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งอยู่หน้าที่ดินของโจทก์ ระหว่างที่ดินของโจทก์กับแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะเปิดประตูรั้วและมีทางสาธารณะเล็กๆ ให้โจทก์เดินลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ก็ตาม การกระทำของผู้ร้องสอดก็ย่อมทำให้ความสะดวกในการใช้ที่ดินของโจทก์ลดน้อยลงกว่าปกติ อีกทั้งยังบดบังทัศนียภาพทำลายสิ่งแวดล้อมหน้าที่ดินของโจทก์ ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเป็นกรณีพิเศษเกินกว่าปกติที่ควรได้รับ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลที่ทำให้เกิดความเสียหายเป็นกรณีที่ผิดปกติ เพื่อให้โจทก์ได้รับความสะดวกในการใช้ทรัพย์ตามปกติ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.