คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4476/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่2ถึงที่9เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่1มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งแปดเป็นผู้ช่วยชำระบัญชีทำหน้าที่ต่างๆในการชำระบัญชีตามคำสั่งของจำเลยแล้วแต่จะให้ทำงานอะไรและเป็นอำนาจของคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้ามีกำหนดเวลาจ้างครั้งละ1เดือนติดต่อกันเป็นเวลา9ปีเศษเห็นได้ว่าการจ้างโจทก์ทั้งแปดจำเลยมิได้มุ่งถึงผลสำเร็จของงานหากแต่โจทก์ทั้งแปดจะต้องทำงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีตามที่ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่2ถึงที่9ตลอดเวลาการจ้างดังนั้นสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยต่อสัญญาจ้างโจทก์ทั้งแปดติดต่อกันครั้งละ1เดือนเป็นเวลานานถึง9ปีเศษโดยจำเลยมีคำสั่งจ้างโจทก์ทั้งแปดตามสัญญาจ้างแต่ละฉบับมีเงื่อนไขว่าหากพนักงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไปคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลก่อนกำหนดสิ้นเดือนโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้ากรณีจึงถือไม่ได้ว่าสัญญาจ้างโจทก์ทั้งแปดมีลักษณะการจ้างเป็นครั้งคราวโดยมีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไว้แน่นอนดังนั้นเมื่อจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งแปดติดต่อกันทุกเดือนและงานนั้นยังไม่แล้วเสร็จภายในเวลาสองปีจึงเป็นการจ้างแรงงานที่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

คดีทั้งแปดสำนวน ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยให้เรียกโจทก์ตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1ถึงโจทก์ที่ 8
โจทก์ทั้งแปดสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องในทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจัดตั้งองค์การเหมืองแร่พ.ศ. 2520 ต่อมามีพระราชกฤษฎีกายกเลิกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การเหมืองแร่ พ.ศ. 2520 พ.ศ. 2528 แต่ให้ถือว่าจำเลยที่ 1ซึ่งได้ยกเลิกนั้นคงตั้งอยู่ตราบเท่าเวลาที่จำเป็นเพื่อการชำระบัญชีโดยจำเลยที่ 11 ซึ่งเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 10 เป็นผู้แต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชี โจทก์ทั้งแปดทำงานให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 โดยจำเลยทำคำสั่งจ้างเดือนละ 1 ฉบับกำหนดจ่ายค่าจ้างเมื่อสิ้นสุดคำสั่งจ้างแต่ละฉบับ จำเลยที่ 2ถึงที่ 9 ตกลงว่าจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นพนักงานชั่วคราวระหว่างดำเนินการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 เรื่อยมาโดยออกคำสั่งเดือนละครั้งเป็นระยะเวลา 9 ปีเศษ โดยอ้างว่าการชำระบัญชีของจำเลยที่ 1ยังไม่เสร็จสิ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 มีลักษณะเป็นการจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างประจำแต่หลีกเลี่ยงบทบัญญัติของกฎหมายเพื่อมิต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อโจทก์ทั้งแปดออกจากงานและเพื่อตัดสิทธิต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งแปดมีสิทธิจะได้รับในฐานะลูกจ้างประจำ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2538 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดโดยไม่จ่ายค่าชดเชยทั้งตัดสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่โจทก์ทั้งแปดจะพึงได้รับในฐานะลูกจ้างประจำการกระทำของจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบเอ็ดจ่ายค่าจ้างค้าง เงินค่าจ้างที่โจทก์ทั้งแปดมีสิทธิได้รับในการปรับขึ้นเงินเดือนพร้อมดอกเบี้ย ค่าชดเชย ค่าบำเหน็จ ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหาย รวมทั้งหมดเป็นเงินที่จำเลยทั้งสิบเอ็ดจะต้องชำระให้โจทก์ที่ 1 จำนวน 4,307,206 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน3,792,687 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 4,199,139 บาท โจทก์ที่ 4จำนวน 2,625,700 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 579,419 บาท โจทก์ที่ 6จำนวน 4,036,252 บาท โจทก์ที่ 7 จำนวน 1,214,215 บาทและโจทก์ที่ 8 จำนวน 3,680,840 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับนับแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2538 ซึ่งเป็นวันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงจำเลยที่ 11 ทั้งแปดสำนวนให้การว่า จำเลยที่ 1เลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดและพนักงานทั้งหมดแล้ว โจทก์ทั้งแปดจึงสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 11 อาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่งตั้งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 เป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจำเลยที่ 1และให้มีอำนาจแต่งตั้งคณะผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีได้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9จึงจ้างพนักงานชั่วคราวรวมทั้งโจทก์ทั้งแปดในระหว่างการชำระบัญชี โดยมีเงื่อนไขว่าหากพนักงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จะไม่จ้างต่อไป และได้ทำสัญญาจ้างชั่วคราวเป็นรายเดือนคราวละ 1 เดือนต่อมาได้มีคำสั่งระบุว่าไม่จ้างโจทก์ทั้งแปดอีกต่อไป การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จ้างพนักงานชั่วคราวดังกล่าวนี้เป็นการจ้างที่มีกำหนดเวลาการจ้างแน่นอน และเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลานั้น อันเป็นการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่ไม่ใช่งานปกติธุรกิจของจำเลยที่ 1 โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานแน่นอนคือเพื่อให้การชำระบัญชีของจำเลยที่ 1เสร็จสิ้นไป จึงเป็นการจ้างในลักษณะชั่วคราวไม่มีลักษณะเป็นการจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นลูกจ้างประจำ การเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดชอบด้วยกฎหมายไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ไม่ทำให้โจทก์ทั้งแปดได้รับความเสียหายแต่อย่างใดขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งแปดสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์ทั้งแปดอุทธรณ์ว่าสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยเป็นสัญญาจ้างแรงงาน และจำเลยไม่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ข้อ 46 วรรคท้าย นั้น เห็นว่าประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14)ข้อ 46 วรรคท้ายบัญญัติว่า การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาตามวรรคสามจะกระทำได้สำหรับการจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีการกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง หมายความว่าการจ้างงานที่ได้รับการยกเว้นที่มิต้องจ่ายค่าชดเชยจะกระทำได้สำหรับการจ้างแรงงานที่เข้าหลักเกณฑ์คือ 1. เป็นการจ้างงานในโครงการที่ไม่ใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของนายจ้างซึ่งมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแน่นอนหรือ 2. การจ้างในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือ3. การจ้างงานที่เป็นไปตามฤดูกาล และงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี คดีนี้ได้ความว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายน2528 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งแต่งตั้งโจทก์ทั้งแปดเป็นผู้ช่วยผู้ชำระบัญชีทำหน้าที่ต่าง ๆ ในการชำระบัญชีตามคำสั่งของจำเลยแล้วแต่จะให้ทำงานอะไรและเป็นอำนาจของคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีที่จะเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า ทั้งนี้มีกำหนดเวลาจ้างครั้งละ 1 เดือนติดต่อกันเป็นเวลา 9 ปีเศษ จนกระทั่งวันที่31 มกราคม 2538 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 จึงมีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปด จะเห็นได้ว่า การจ้างโจทก์ทั้งแปดจำเลยมิได้มุ่งถึงผลสำเร็จของงาน หากแต่โจทก์ทั้งแปดจะต้องทำงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการชำระบัญชีตามที่ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 9ผู้ชำระบัญชีตลอดเวลาการจ้าง 9 ปีเศษ ดังนั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยจึงเป็นสัญญาจ้างแรงงาน การที่จำเลยต่อสัญญาจ้างโจทก์ทั้งแปดติดต่อกันครั้งละ 1 เดือน เป็นเวลานานถึง 9 ปีเศษ โดยจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างมีคำสั่งจ้างโจทก์ทั้งแปดตามสัญญาจ้างแต่ละฉบับมีเงื่อนไขว่า หากพนักงานผู้ใดหมดหน้าที่หรือหมดความจำเป็นที่จะปฏิบัติงานต่อไป คณะกรรมการผู้ชำระบัญชีจะเลิกจ้างเป็นรายบุคคลก่อนกำหนดสิ้นเดือนโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยเหตุนี้ จึงถือไม่ได้ว่าสัญญาจ้างโจทก์ทั้งแปดมีลักษณะการจ้างเป็นครั้งคราวโดยมีกำหนดเวลาสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงานไว้แน่นอน ดังนั้นเมื่อจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งแปดติดต่อกันทุกเดือนและงานนั้นยังไม่แล้วเสร็จภายในเวลาสองปี จึงเป็นการจ้างแรงงานที่ไม่เข้าข้อยกเว้นที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 14) ข้อ 46 วรรคท้าย ส่วนปัญหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งแปดเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่และจำเลยต้องจ่าย ค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย เงินปรับค่าจ้างค่าบำเหน็จ ค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายให้โจทก์ทั้งแปดหรือไม่เพียงใดตามประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 นั้น ศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา จึงชอบที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3ต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 31 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งแปดสำนวนฟังขึ้น”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาใหม่ในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 และข้อ 3 ต่อไปตามรูปคดี

Share