คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4476/2529

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ไปตามสัญญากู้เงินต่อมาจำเลยได้นำเงินที่ได้จากการขายหุ้น เงินปันผล และเงินสดมาชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนนับถึงวันที่ 11 กันยายน 2523 จำเลยชำระเงินต้นให้โจทก์ 831,333 บาท 67 สตางค์ กับดอกเบี้ยอีก 583,642บาท 99 สตางค์ ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยให้ชำระเงินต้นส่วนที่เหลือพร้อมดอกเบี้ยตามเอกสารท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องซึ่งได้ระบุยอดเงินต้นที่ค้างตรงตามฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนข้อที่ว่ายอดเงินที่จำเลยชำระคืนบางส่วนเป็นเงินเท่าใด เป็นเงินอะไร และมีการชำระเงินเมื่อใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบต่อไป หาจำต้องบรรยายในคำฟ้องไม่ จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์และได้ชำระเงินคืนบางส่วนแล้วจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ที่เหลือให้โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์และไม่ได้รับเงินตามฟ้อง ดังนี้การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในคำพิพากษาโดยตั้งประเด็นพิพาทว่าจำเลยกู้เงินโจทก์หรือไม่และจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น ย่อมมีความหมายทำนองเดียวกับประเด็นเดิมที่ตั้งไว้ในชั้นพิจารณาที่ว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปตามฟ้องหรือไม่จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องแต่อย่างใด และไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือขยายประเด็นเดิม
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์ การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการซื้อขายหลักทรัพย์ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ซื้อขายหลักทรัพย์มาเป็นหนี้เงินกู้ เป็นการวินิจฉัยถึงที่มาแห่งการทำสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์จำเลย จึงไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องแต่อย่างใด
จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำเลยเป็นหนี้โจทก์ 3,500,000 บาทเศษ จำเลยจึงได้ทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์ ดังนี้การทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันชอบด้วยกฎหมายจึงบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินต้น 2,760,896.67 บาทกับดอกเบี้ยอีก 864,221.48 บาท ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยชำระเฉพาะเงินต้น อันเป็นหนี้ส่วนใหญ่ที่จำเลยค้างชำระ ดังนี้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาทแทนโจทก์ และศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 6,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 3,592,230.34 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จำเลยนำใบหุ้นจำนวน 9,000 หุ้น มามอบให้โจทก์เป็นประกัน ต่อมาจำเลยนำเงินจากการขายหุ้นดังกล่าวบางส่วนและเงินปันผลที่ได้รับมาชำระหนี้ให้โจทก์ นอกจากนี้จำเลยยังได้นำเงินมาชำระหนี้ให้โจทก์อีกบางส่วน นับถึงวันฟ้องจำเลยค้างชำระเงินต้น 2,760,896.67 บาทกับดอกเบี้ย864,221.48 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าว

จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทำสัญญากู้และไม่ได้รับเงินกู้จากโจทก์ฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,760,896.67 บาท แก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่าจำเลยได้กู้เงินโจทก์ไปตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาจำเลยได้นำเงินที่ได้จากการขายหุ้น3,500 หุ้น เป็นเงิน 934,301 บาท 60 สตางค์และเงินปันผลอีก 207,000 บาทมาชำระหนี้ให้โจทก์ นอกจากนี้จำเลยได้ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนนับถึงวันที่ 11กันยายน 2523 จำเลยชำระเงินต้นให้โจทก์ 831,333 บาท 67 สตางค์ กับดอกเบี้ยอีก 583,642 บาท 99 สตางค์ ซึ่งโจทก์ได้มีหนังสือถึงจำเลยให้ชำระเงินต้นส่วนที่เหลือพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามหนังสือของทนายโจทก์ลงวันที่ 18 มิถุนายน 2525ท้ายคำฟ้องเอกสารหมาย 4 (ซึ่งหนังสือของทนายโจทก์ดังกล่าวอันถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องได้ระบุยอดเงินต้นที่ค้างชำระเป็นเงิน 2,760,896 บาท 67 สตางค์ ตรงตามฟ้อง) คำฟ้องของโจทก์จึงแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 172 พอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้แล้ว ส่วนข้อที่ว่ายอดเงินที่จำเลยชำระคืนบางส่วนเป็นเงินเท่าใด เป็นเงินอะไรบ้าง และมีการชำระเงินเมื่อใดนั้น เป็นเพียงรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบต่อไป หาจำต้องบรรยายในคำฟ้องไม่ จึงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์และได้ชำระเงินคืนบางส่วนแล้วจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้ที่เหลือให้โจทก์ จำเลยให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กู้เงินโจทก์และไม่ได้รับเงินตามฟ้องดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยโดยตั้งประเด็นพิพาทว่าจำเลยกู้เงินโจทก์หรือไม่และจะต้องรับผิดเพียงใดนั้น ย่อมมีความหมายทำนองเดียวกับประเด็นเดิมที่ว่าจำเลยได้ทำสัญญากู้เงินและรับเงินไปตามฟ้องหรือไม่ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องแต่อย่างใด และไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นหรือขยายประเด็นเดิม จำเลยฎีกาข้อนี้ต่อไปว่าการที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าสัญญากู้เงินตามฟ้องมีมูลหนี้มาจากการซื้อขายหลักทรัพย์ จึงเป็นการแปลงหนี้ใหม่จากหนี้ซื้อขายหลักทรัพย์มาเป็นหนี้เงินกู้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องและนายแสวงพยานโจทก์เบิกความด้วยว่าจำเลยไม่ได้รับเงินกู้ไปจึงควรยกฟ้องได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าเป็นการวินิจฉัยถึงที่มาแห่งการทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 ระหว่างโจทก์จำเลย จึงไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องแต่อย่างใดและนอกจากนายแสวงจะเบิกความว่าจำเลยไม่ได้รับเงินตามฟ้องแล้ว ยังได้เบิกความต่อไปว่าเมื่อทำสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.1 แล้ว จำเลยยอมให้โอนเงินจากแผนกสินเชื่อไปชำระหนี้ที่แผนกขายหลักทรัพย์ซึ่งจำเลยยังเป็นหนี้โจทก์อยู่อันถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินไปแล้วเพื่อชำระหนี้อื่นแก่โจทก์ สัญญากู้เงินจึงสมบูรณ์ตามกฎหมาย

จำเลยฎีกาว่าการซื้อขายหลักทรัพย์ไม่เป็นการกู้ยืมเงินจึงบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินไม่ได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการแปลงหนี้จากสัญญาซื้อขายหลักทรัพย์มาเป็นสัญญากู้ยืมเงินนั้นฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำเบิกความของนายแสวงพยานโจทก์ว่า ประมาณ พ.ศ. 2521 จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพื่อนำไปซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจำเลยเป็นหนี้โจทก์ 3,500,000 บาทเศษ จำเลยจึงได้มาทำสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ดังนั้น จึงถือได้ว่าการทำสัญญากู้ยืมเงินระหว่างโจทก์และจำเลยเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันชอบด้วยกฎหมาย จึงบังคับตามสัญญากู้ยืมเงินได้

จำเลยฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่าค่าฤชาธรรมเนียมควรเป็นพับทุกศาลเพราะศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้ค้างชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 864,221 บาท 48 สตางค์ ไม่บังคับให้จำเลยชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินจำนวน 2,760,896 บาท 67 สตางค์ อันเป็นหนี้ส่วนใหญ่ที่จำเลยค้างชำระ ดังนั้นที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 10,000 บาทแทนโจทก์ และศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 6,000 บาทจึงเหมาะสมแล้ว

พิพากษายืน

Share