แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำหน้าที่เป็นตัวแทนรับเงินค่าเช่าซื้อรถจากลูกหนี้ของโจทก์ จำเลยที่ 1 รับเงินตาม หน้าที่แล้วไม่ส่งมอบให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นทั้งละเมิดและปฏิบัติผิดหน้าที่ตัวแทนตาม สัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในการละเมิดหรือติดตาม เอาทรัพย์ของโจทก์ที่จำเลยเอาไปได้ การฟ้องเรียกให้จำเลยคืนเงิน จึงเป็นการใช้ สิทธิติดตาม เอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1336 ซึ่ง ไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้ สิทธิเช่นนี้เว้นแต่จะถูก จำกัดด้วย อายุความได้ สิทธิ ดังนั้นโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้ แม้จะเกิน 1 ปี จำเลยที่ 2ค้ำประกันจำเลยที่ 1 มูลหนี้ของจำเลยที่ 2 ก็เกิดจากสัญญา หาได้เกิดจากมูลละเมิดอันจะมีอายุความ 1 ปีไม่ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างบริษัทโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนในการรับเงินค่าเช่าซื้อจากลูกหนี้ของโจทก์แล้วมีหน้าที่ต้องนำส่งมอบคืนให้โจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จงใจไม่นำเงินค่างวดเช่าซื้อรถที่ลูกหนี้ของโจทก์นำมาชำระจำนวน 55,838 บาทส่งมอบคืนให้โจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ แต่เมื่อครบกำหนดเวลาตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินและดอกเบี้ยจำนวน 61,628 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของจำนวนเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์จริง จำเลยที่ 1 ไม่เคยผิดสัญญาตามหนังสือรับสภาพหนี้ฟ้องของโจทก์ให้จำเลยทั้งสองรับผิดฐานละเมิดมีอายุความ 1 ปีและขาดอายุความแล้ว โจทก์บรรบายฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ชัดแจ้งเป็นฟ้องเคลือบคลุม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยาน และวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามกฎหมาย หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่จากมูลละเมิดมาเป็นสัญญา อันจะทำให้มูลหนี้ละเมิดระงับไปดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอายุความที่โจทก์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดต้องถือเอาอายุความละเมิดเมื่อโจทก์ฟ้องคดีเกิน 1 ปี คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความนั้น เห็นว่าหากพิจารณาแต่มูลหนี้อันเกิดจากละเมิดอาจขาดอายุความตามที่จำเลยฎีกาได้ เพราะการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ในชั้นนี้ตามสำนวนไม่อาจชี้ให้ชัดเจนได้ว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องได้ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการเปลี่ยนมูลหนี้จากละเมิดมาเป็นสัญญาอย่างที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยซึ่งศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยการรับสภาพหนี้ของจำเลยที่ 1 เพียงแต่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนย่อมไม่นับเข้าเป็นอายุความแต่ให้นับอายุความขึ้นใหม่ ซึ่งต้องถืออายุความในมูลหนี้เดิมถ้าเป็นมูลหนี้ละเมิดล้วน ๆ โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดภายใน1 ปี ย่อมขาดอายุความ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งพนักงานเร่งรัดติดตามหนี้สินจากลูกหนี้เป็นตัวแทนในการรับเงินค่าเช่าซื้อรถ จำเลยที่ 1 รับเงินค่าเช่าซื้อรถจากลูกหนี้ของโจทก์ แล้วจงใจไม่นำเงินส่งมอบคืนให้โจทก์ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นในการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องโจทก์เห็นได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 รับเงินจากลูกหนี้ของโจทก์ตามหน้าที่แล้วไม่ส่งมอบเงินดังกล่าวให้แก่โจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ย่อมเป็นทั้งละเมิดและปฏิบัติผิดหน้าที่ตัวแทนตามสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกค่าเสียหายในการละเมิด หรือติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์ที่จำเลยเอาไปได้ การฟ้องของโจทก์จึงเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของโจทก์คืนจากจำเลยที่ 1 ผู้ไม่มีสิทธิยึดถือทรัพย์ของโจทก์ไว้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาให้เจ้าของทรัพย์ใช้สิทธิเช่นนี้ เว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกกำจัดด้วยอายุความได้สิทธิโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 1 ได้แม้จะเกิน 1 ปีคดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามข้อที่อ้างในฎีกาของจำเลย และการที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 มูลหนี้ของจำเลยที่ 2 ก็เกิดจากสัญญาหาได้เกิดจากมูลละเมิดอันจะมีอายุความ 1 ปีไม่ เมื่อมูลหนี้ของจำเลยที่ 1 ไม่ขาดอายุความข้ออ้างของจำเลยที่ 2 ที่ต่อสู้ว่าขาดอายุความจึงฟังไม่ขึ้น ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.