คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5530/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มิได้สร้างสรรค์ภาพต้นแบบขึ้นโดยการรับจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างอันจะมีลิขสิทธิ์ในงานนั้นตาม มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 โจทก์ย่อมเป็น เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าว จำเลยได้ดัดแปลง และนำงาน อันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิด ลิขสิทธิ์ของโจทก์ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้บรรยายว่า การกระทำของ จำเลยเป็นการละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วยก็ตามแต่ในชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์เป็นประเด็นพิพาทไว้และโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน จึงต้องถือว่าโจทก์สละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนวิธีพิจารณา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2524 จำเลยได้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์งานศิลปกรรมของโจทก์ ชุด “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน”กับ “ไอ้จ่อย” มาดัดแปลงแก้ไขออกโฆษณาเพื่อหาประโยชน์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และนำออกเผยแพร่ไปในทางเสื่อมเสียแก่โจทก์ภายใต้ข้อความว่า “ผู้ใหญ่มากับแสงโสม” มีภาพผู้ใหญ่มายืนมือหนึ่งถือแก้วเหล้า อีกมือหนึ่งกำ กำปั้นกำลังทุบศีรษะไอ้จ่อยและไอ้จ่อย แสดงท่า มือหนึ่งถือแก้วเหล้ากำลังนั่งอยู่บนพื้นในลักษณะเมา และถูกผู้ใหญ่มาทุบศีรษะ ข้างตัวไอ้จ่อย มีขวดโซดาเปล่าวางอยู่สองขวด และมีกับแกล้มหลายชนิดวางอยู่ โดยจำเลยสร้างคำพูดให้กับผู้ใหญ่มาว่า “นี่…ไอ้จ่อย…แสงโสมนะว๊อย รินน้อยหน่อยผสมมากหน่อย” และไอ้จ่อย ตอบว่า “!?!” อร่อยกำลังเหมาะ”ทำให้ผู้อ่านการ์ตูนดังกล่าวเข้าใจว่า โจทก์สนับสนุนส่งเสริมสุราของจำเลย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้และสูญเสียผลประโยชน์อันพึงได้จากลิขสิทธิ์ของโจทก์ และสูญเสียโอกาสในการขายลิขสิทธิ์การโฆษณาจากสินค้าอื่นซึ่งพึงจะได้รับตลอดเวลาที่จำเลยนำเอาตัวละครไปโฆษณา จำเลยได้นำแผ่นพิมพ์ดังกล่าวตีพิมพ์ในสิ่งตีพิมพ์ต่าง ๆหลายครั้ง ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 1,000,000 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จและให้จำเลยประกาศคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ มติชน มาตุภูมิ ฉบับละ 15 วันโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า ภาพการ์ตูนแผ่นปลิวตามเอกสารท้ายฟ้องจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างโจทก์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อจำเลยจะใช้ในการโฆษณาสินค้าสุราพิเศษแสงโสมซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของและผู้ผลิตจำหน่าย โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยใส่ตัวอักษรลงในภาพเพื่อประโยชน์ในการโฆษณาสินค้าของจำเลยตามความเหมาะสมโดยจำเลยได้ชำระค่าจ้างให้โจทก์รับไปแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ตามเอกสารท้ายฟ้องแต่เพียงผู้เดียวทั้งนี้ถ้อยคำที่ปรากฏในภาพก็ได้รับความรู้เห็นยินยอมจากโจทก์แล้วด้วย โจทก์ไม่เสียหาย แม้จะเสียหายจริงก็ไม่เกิน 5,000 บาทและความเสียหายที่โจทก์เรียกตามฟ้องนั้น โจทก์มิได้กล่าวอ้างว่าโจทก์เสียหายส่วนไหน อย่างใด เพียงใด จำเลยไม่อาจต่อสู้คดีได้ถูกต้อง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (25 ตุลาคม 2526) จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อให้ได้เนื้อความคำฟ้องและผลของคำพิพากษาลงในหนังสือพิมพ์ตามฟ้อง จำนวน 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันโดยให้จำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนชุด “ผู้ใหญ่มากับทุ่งหมาเมิน”โดยโจทก์เป็นผู้คิดสร้างสรรค์งานศิลปกรรมภาพการ์ตูนชุดดังกล่าวขึ้นและเริ่มลงโฆษณาครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เดลินิวส์เมื่อปี พ.ศ. 2521ต่อมาก็ลงในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ใช้นามปากกาว่า “ชัย ราชวัตร”โดยตัวละครแต่ละตัวมีรูปร่างเป็นเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวภาพการ์ตูนที่พิพาทในคดีนี้ คือภาพตามต้นแบบหมาย ล.2 ซึ่งเป็นงานสร้างสรรค์ของโจทก์ จำเลยได้นำภาพการ์ตูนดังกล่าวไปทำคำบรรยายประกอบเพื่อโฆษณาสุราแสงโสมของจำเลยดังปรากฏตามภาพหมาย จ.17 แล้วจำเลยได้นำไปลงโฆษณาเผยแพร่ทางหนังสือต่าง ๆและทำเป็นแผ่นปลิวโฆษณา ประเด็นแรกที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้องหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ภาพต้นแบบหมาย ล.2โจทก์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างจำเลย จำเลยจึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างอันจะมีลิขสิทธิ์ในงานนั้น ตามมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2521 โจทก์ย่อมเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวจำเลยได้ดัดแปลง และนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ออกโฆษณาโดยมิได้รับอนุญาตจากโจทก์ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ตามฟ้อง แต่ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์และให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ด้วยนั้น เห็นว่า แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อชื่อเสียงและเกียรติคุณของโจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ด้วยก็ตาม แต่ในการชี้สองสถานศาลชั้นต้นมิได้กำหนดเรื่องการละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติคุณของโจทก์เป็นประเด็นข้อพิพาทไว้และโจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นพิพาทไว้ไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วน จึงต้องถือว่าโจทก์ได้สละประเด็นข้อนี้แล้ว การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวย่อมเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา คำขอให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์จึงสั่งให้ไม่ได้ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปก็คือเรื่องค่าเสียหายฐานละเมิดลิขสิทธิ์โจทก์สมควรจะได้รับเป็นจำนวนเงินเท่าใด ปัญหาข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ให้โจทก์จำนวน 80,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน80,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันฟ้อง (25 ตุลาคม 2526) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จคำขอให้โฆษณาคำพิพากษาให้ยก นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share