แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินแปลงเดียวกันโดยยังมิได้แบ่งแยกเป็นหลายโฉนดเพราะอยู่ในระหว่างการรังวัดแบ่งแยกของเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้น โจทก์ที่ 1 จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินได้แบ่งแยกออกโฉนดที่ดินส่วนของโจทก์ที่ 2 ให้แก่โจทก์ที่ 2 ปรากฏว่าที่พิพาทและบ้านของจำเลยส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินของโจทก์ที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงฟ้องจำเลยหลังจากได้รับโฉนดที่ดินมาแล้วและปรากฏว่าที่พิพาทบางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ 1 บางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ 2 โจทก์ทั้งสองต่างมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ฟ้องของโจทก์ที่ 2 จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173
โจทก์ที่ 2 ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาท ซึ่งเป็นมรดกตกทอดมายังโจทก์ที่ 2 ตามพินัยกรรมและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทของโจทก์ที่ 2 โดยละเมิด กรณีมิใช่ฟ้องเรียกที่พิพาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรม ทั้งจำเลยก็มิใช่บุคคลที่จะยกอายุความ 1 ปีขึ้นต่อสู้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1755 แม้โจทก์ที่ 2 จะฟ้องคดีเกิน 1 ปี หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมคดีของโจทก์ที่ 2 ก็ไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลมีคำสั่งให้พิจารณารวมกันโดยโจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยคนเดียวกันว่าจำเลยอาศัยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๔๐๗ ของนางราชแรงฤทธิ์โดยไม่คิดค่าเช่า ต่อมาที่ดินแปลงดังกล่าวตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองไม่ต้องการให้จำเลยอยู่ต่อไปจึงขอให้ศาลขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินของโจทก์พร้อมกับรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การว่าจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของมา ๒๕ ปีแล้ว จำเลยไม่เคยเช่าที่ดินจากผู้ใดฟ้องของโจทก์ที่ ๒ เป็นฟ้องซ้อนกับโจทก์ที่ ๑ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ และคดีโจทก์ขาดอายุความมรดก ๑ ปีแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนเรือนที่ปลูกอยู่ในที่ดินของโจทก์และขนย้ายออกจากที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ที่ ๒ ฟ้องคดีนี้เป็นการฟ้องซ้อนกับคดีของโจทก์ที่ ๑ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่๑ ฟ้องคดีหมายเลขดำที่ ๖๒/๒๕๒๔ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๒๔ ซึ่งขณะนั้นโฉนดเลขที่ ๔๐๗ ยังมิได้แบ่งแยกเป็นหลายโฉนด เพราะอยู่ระหว่างการรังวัดแบ่งแยกของเจ้าพนักงานที่ดินเท่านั้นโจทก์ที่๑ จึงได้ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ ๑ หลังจากโจทก์ที่ ๑ ฟ้องจำเลยดังกล่าวแล้ว ต่อมาวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๒๔ เจ้าพนักงานที่ดินจึงได้แบ่งแยกออกโฉนดเลขที่ ๑๐๘๔๙ ให้แก่โจทก์ที่ ๒ ปรากฏว่าที่พิพาทและบ้านเลขที่ ๓๗/๑ ของจำเลยส่วนใหญ่อยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๐๘๔๙ ของโจทก์ที่ ๒ โจทก์ที่ ๒ จึงได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีดำที่ ๑๐๘/๒๕๒๔ เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๒๔ คือหลังจากได้รับโฉนดที่ดินมาแล้วนอกจากนี้ที่ดินพิพาทบางส่วนยังรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ที่ ๑ ด้วย กล่าวคือที่พิพาทบางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ ๑ บางส่วนอยู่ในโฉนดของโจทก์ที่ ๒ โจทก์ทั้งสองต่างมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยได้ ฟ้องของโจทก์ที่ ๒ จึงไม่เป็นฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องของโจทก์ที่ ๒ ขาดอายุความแล้วเพราะโจทก์ฟ้องจำเลยเกินกว่า ๑ ปีนับแต่มารดาโจทก์ที่ ๒ ถึงแก่กรรม ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ที่ ๒ ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่พิพาทซึ่งเป็นมรดกของนางทองสุขตกทอดมายังโจทก์ที่ ๒ ตามพินัยกรรมของนางทองสุขและเรียกค่าเสียหายที่จำเลยอยู่ในที่พิพาทของโจทก์ที่ ๒ โดยละเมิด หาใช่โจทก์ที่ ๒ ฟ้องเรียกที่พิพาทตามข้อกำหนดในพินัยกรรมไม่ อีกทั้งจำเลยก็มิใช่บุคคลที่จะยกอายุความ ๑ ปีขึ้นต่อสู้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๕ แม้โจทก์ที่ ๒ จะฟ้องคดีนี้เกิน ๑ ปี หลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมแล้วก็ตาม คดีของโจทก์ที่ ๒ ก็ไม่ขาดอายุความ ฎีกาจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน