แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามประชาชนซึ่งได้รับความเสียหายเป็นโจทก์ฟ้อง ในความผิดทางอาญา และการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อ คุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 21,42 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบหมายให้จำเลยเป็นนายหน้าหรือตัวแทนในการซื้อขายหลักทรัพย์ใบหุ้นของบริษัทต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแทนโจทก์ จำเลยได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อโจทก์ กล่าวคือ หลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่โจทก์ว่าได้ซื้อหุ้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ให้แก่โจทก์ตามคำสั่งของโจทก์แล้ว และได้ออกค่าซื้อหุ้นกับค่านายหน้าแทนโจทก์ไป ทำให้โจทก์หลงเชื่อจึงได้จ่ายค่าดอกเบี้ยให้แก่จำเลย ซึ่งความจริงจำเลยมิได้ซื้อหุ้นของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ตามที่แจ้งให้โจทก์ทราบ แต่เพิ่งซื้อในภายหลัง เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย และจำเลยได้เบียดบังหุ้นของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ซึ่งโจทก์มอบหมายให้ครอบครองแทนไปเป็นของจำเลยโดยทุจริต ต่อมาจำเลยได้ร่วมกันปลอมเอกสารตราสารโอนหุ้นโดยระบุว่าโจทก์โอนขายหุ้นให้แก่จำเลยซึ่งเป็นความเท็จ ทั้งได้ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อนายทะเบียนตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าโจทก์ได้โอนขายหุ้นบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด ให้แก่จำเลย เป็นเหตุให้นายทะเบียนหลงเชื่อและจดทะเบียนโอนหุ้นจากโจทก์ไปเป็นของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์ไม่มีมูลทุกข้อหา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 353, 354 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาสู่ศาลฎีกาเพื่อวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์เฉพาะข้อ 5 ซึ่งเป็นข้อกฎหมายที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2517 มาตรา 21, 42 หรือไม่ ความในมาตรา 21 แห่งกฎหมายดังกล่าวมีว่า “ห้ามมิให้สมาชิก (1) แจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความอันควรต้องแจ้งเกี่ยวกับฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทรับอนุญาต และราคาซื้อหรือขายของหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์รับอนุญาต หรือ (2) กระทำการใด ๆ โดยมีเจตนาทุจริตในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์จดทะเบียนหรือหลักทรัพย์รับอนุญาต” ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ไม่มีบทบัญญัติใดที่ห้ามประชาชนซึ่งได้รับความเสียหายเป็นโจทก์ฟ้องในความผิดทางอาญา และตามที่ระบุไว้ในหมายเหตุการประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนส่วนรวม ฉะนั้นโจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามที่โจทก์ฎีกาขึ้นมาได้และเห็นพ้องด้วยกับฎีกาของโจทก์ที่ว่าเมื่อคดีโจทก์มีมูลในความผิดฐานฉ้อโกงและยักยอกแล้ว มูลความผิดนั้นย่อมเป็นมูลความผิดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 21 ด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า ให้ประทับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ในมูลความผิดตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 21, 42 ด้วย