คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4460/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เมื่อข้อหาที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิตศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องสอบถามจำเลยเกี่ยวกับทนายความเสียก่อนตามมาตรา 173 จะด่วนไปสอบถามคำให้การจำเลยโดยจำเลยยังไม่มีทนายความไม่มีผูกพันจำเลย ต้องถือเสมือนว่าจำเลยยังมิได้ให้การตามที่ศาลสอบถามและบันทึกไว้ อย่างไรก็ดี แม้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในเรื่องดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ปรากฏว่าในวันสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาว่าต่างให้ ทนายความของจำเลยยังแก้ต่างให้ทุกนัดจนเสร็จคดี กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามมาตรา 208(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2542 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1 เม็ด น้ำหนัก 0.09 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 100 บาท ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 15, 16

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 วรรคสอง แล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุจำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีใหม่หรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 173 บัญญัติว่า “ในคดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีก็ให้ศาลตั้งทนายความให้ ในคดีที่มีอัตราโทษจำคุก หรือในคดีที่จำเลยมีอายุไม่เกินสิบแปดปีในวันที่ถูกฟ้องต่อศาล ก่อนเริ่มพิจารณาให้ศาลถามจำเลยว่ามีทนายความหรือไม่ถ้าไม่มีและจำเลยต้องการทนายความ ก็ให้ศาลตั้งทนายความให้…” มีเจตนารมณ์เพื่อเปิดโอกาสให้จำเลยในคดีอาญาดังกล่าวสามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เมื่อข้อหาที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงจำคุกตลอดชีวิต ศาลชั้นต้นย่อมมีหน้าที่ต้องสอบถามจำเลยเกี่ยวกับทนายความเสียก่อนตามมาตรา 173 จะด่วนไปสอบถามคำให้การจำเลยโดยจำเลยยังไม่มีทนายความไม่มีผูกพันจำเลย ต้องถือเสมือนหนึ่งว่าจำเลยยังมิได้ให้การตามที่ศาลสอบถามและบันทึกไว้ อย่างไรก็ดี แม้กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นในเรื่องดังกล่าวจะไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ตาม แต่ปรากฏว่าในวันที่ 3 กันยายน 2542 อันเป็นวันสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยได้แต่งทนายความเข้ามาว่าต่างให้ ยิ่งกว่านั้นทนายความของจำเลยยังแก้ต่างให้จำเลยทุกนัดจนเสร็จคดี กรณีไม่มีเหตุอันสมควรที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208(2) แต่ประการใดเพราะจำเลยมีทนายความมาช่วยเหลือในการดำเนินคดีตามที่กฎหมายบัญญัติแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินการใหม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”

พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share