คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4440/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้สัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. จะไม่เข้าลักษณะเป็น “ค่าแห่งลิขสิทธิ์” แต่ก็มีลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจัดเป็นค่าแห่งสิทธิอื่นๆ ทำนองเดียวกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์และค่าแห่งลิขสิทธิ์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.รัษฎากร มาตรา 40 (3)
การโฆษณาและส่งเสริมการขายตามสัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์กับบริษัท พ. เจ้าของแฟรนไชส์ เป็นข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์ต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมและดุลพินิจของบริษัทดังกล่าวโดยเฉพาะ โจทก์ในฐานะผู้รับแฟรนไชส์ไม่มีอิสระที่จะทำการโฆษณาตามรูปแบบและเนื้อหาตามที่โจทก์ต้องการ ดังนั้น งบโฆษณาและส่งเสริมการขายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ แม้โจทก์จะมิได้จ่ายให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยตรงก็ตามแต่ก็เป็นประโยชน์ที่บริษัทดังกล่าวได้รับโดยไม่ต้องไปดำเนินการโฆษณาสินค้าภายใต้ “เครื่องหมาย” ของตนตามรูปแบบและเนื้อหาที่ตนพอใจ จึงถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39
การที่โจทก์ต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายตามสัญญาแฟรนไชส์ก็เพื่อตอบแทนการที่บริษัท พ. ยินยอมให้โจทก์เป็นผู้รับแฟรนไชส์ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัท พ. ได้รับประโยชน์หรือ “เงินได้พึงประเมิน” เช่นว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าแฟรนไชส์นอกเหนือจากที่ได้ตกลงไว้ในสัญญาเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 40 (3)
การที่โจทก์จ่ายเงินค่าแฟรนไชส์ที่เข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) ให้แก่บริษัท พ. ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศและมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทย ย่อมเข้าลักษณะเป็นการชำระค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โจทก์ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัท พ. ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6 (2) แห่ง ป.รัษฎากร
คำว่า “เงินได้พึงประเมินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ต้องถือตามความหมายที่มาตรา 39 ได้กำหนดนิยามเอาไว้ ซึ่ง “…ให้หมายความรวมถึง ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน…ด้วย” แม้มาตรา 70 จะมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้หมายความรวมถึงประโยชน์ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มที่โจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยโดยวิธีหักกลบลบหนี้ไปพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 20,662,351.25 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงิน 18,255,611.46 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามหนังสือแจ้งการประเมินนั้นได้รับอนุมัติให้ประเมินภาษีตามมาตรา 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร การออกหมายเรียกตามประมวลรัษฎากร การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงเป็นการประเมินภายในระยะเวลาตามมาตรา 19 และ 88/6 วรรคท้าย แห่งประมวลรัษฎากร แล้ว ข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์ต้องทำการโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 ของยอดขายรวมของปี 2540 คิดเป็นจำนวน 55,866,622.32 บาท เป็นค่าตอบแทนหรือประโยชน์อย่างอื่นที่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ เจ้าของ แฟรนไชส์ได้รับ โดยถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการจ่ายค่าสิทธิแฟรนไชส์ กล่าวคือ เป็นส่วนหนึ่งของค่าตอบแทนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 39 และ 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร อันเข้าลักษณะเป็นเงินได้ที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งให้ถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว จากข้อกำหนดในสัญญาแฟรนไชส์เป็นสัญญาที่อนุญาตให้โจทก์ใช้ “ระบบ” และ “เครื่องหมาย” สำหรับการขายสินค้า ซึ่ง “สินค้า” และ “เครื่องหมาย” มีลักษณะเฉพาะตัว ได้รับการพัฒนาโดยบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ที่ใช้ความพยายาม เวลาและค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก จึงมีลักษณะเป็นทรัพย์สินทางปัญญา นอกจากนี้ในสัญญาข้อ 7 หัวข้อการโฆษณา กำหนดให้โจทก์ทำการโฆษณาภายใต้ “เครื่องหมาย” เพื่อส่งเสริมการขาย “สินค้า” โดยใช้งบโฆษณาเพื่อส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 ของยอดขายรวม การโฆษณาดังกล่าวเป็นหน้าที่ที่โจทก์ต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ โดยวัสดุที่ใช้ในการโฆษณาทั้งหมดต้องอยู่ในรูปแบบและเนื้อหาอันเป็นที่พอใจของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ จึงเห็นได้ประจักษ์ว่าการโฆษณาภายใต้ “เครื่องหมาย” นั้น โจทก์มิอาจกระทำได้โดยอิสระแต่ต้องได้รับความเห็นชอบของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ และการโฆษณาดังกล่าวเป็นการโฆษณาสินค้าพิซซ่าและชื่อทางการค้า พิซซ่า ฮัท มิใช่โฆษณาชื่อบริษัทโจทก์ เงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าโฆษณา แม้จะมิได้จ่ายให้บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ โดยตรง แต่ก็เป็นประโยชน์ที่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ได้รับโดยมิต้องไปดำเนินการโฆษณาสินค้าภายใต้ “เครื่องหมาย” ของตน ตามรูปแบบ วิธีการและเนื้อหาที่ตนพอใจ ถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามความหมายของมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ผู้ให้ใช้สิทธิได้รับและเป็นส่วนหนึ่งของค่าแฟรนไชส์ อันเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาถือเป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อปรากฏว่าตามสัญญาแฟรนไชส์ระหว่างบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ กับโจทก์กำหนดให้โจทก์ต้องดำเนินการโฆษณาและส่งเสริมการขายไม่น้อยกว่าร้อยละ 3.5 ของยอดขายรวม และถือว่าเงินค่าโฆษณาและส่งเสริมการขายดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร ที่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการในราชอาณาจักรให้บริการแก่โจทก์จึงเป็นค่าบริการที่โจทก์มีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร และกรณีที่โจทก์อ้างว่าบุคคลภายนอกที่รับค่าใช้จ่ายจากโจทก์ในการโฆษณาและส่งเสริมการขายได้เรียกเก็บค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและโจทก์ได้นำมาเครดิตแล้วนั้นมิได้เป็นกรณีที่ทำให้หน้าที่ตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ของโจทก์หมดสิ้นไป การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร และเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากรจึงชอบแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่มและเงินเพิ่มที่จำเลยรับชำระโดยวิธีหักกลบลบหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้โจทก์ตามฟ้องแต่อย่างใด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มกับให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากร 18,255,611.46 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ทั้งนี้ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (26 มีนาคม 2546) ไม่เกิน 2,406,739.79 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “…การที่โจทก์ทำสัญญาแฟรนไชส์กับบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทต่างประเทศและมิได้เข้ามาประกอบกิจการในประเทศไทยโดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับหน้าที่ของโจทก์ผู้รับแฟรนไชส์จะต้องรับผิดชอบในการโฆษณาเพื่อเพิ่มยอดขายและส่งเสริมการขายว่า โจทก์จะทำการโฆษณาภายใต้ “เครื่องหมาย” จะส่งเสริมการขาย “สินค้า” โดยความพากเพียรและจะใช้ความพยายามอันควรทุกอย่างเพื่อที่จะเพิ่มยอดขาย “สินค้า” อย่างสม่ำเสมอ โจทก์จะใช้งานโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามจุดห้าของ “ยอดขายรวม” ต่อปี เพื่อการโฆษณา “ธุรกิจ” ในบริเวณโดยรอบ “ร้านค้าต่างๆ” การส่งเสริมการขาย “สินค้า” ให้คำนวณต้นทุนซึ่งรวมถึงค่าแรงงาน ส่วนผสมและกระดาษด้วย และได้กำหนดรูปแบบและเนื้อหาของการโฆษณาว่า วัสดุที่ใช้ในการโฆษณาทั้งหมดจะต้องอยู่ในรูปแบบและเนื้อหาอันเป็นที่พอใจของบริษัทฯ เมื่อได้รับหนังสือบอกกล่าวจากบริษัทฯ โจทก์จะต้องจำกัดและหยุดแจกจ่ายป้ายหรือวัสดุโฆษณาใดๆ โดยพลัน หากโจทก์ไม่กระทำการดังกล่าวภายในห้าวันนับถัดจากวันที่โจทก์ได้รับหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวแล้ว บริษัทฯ หรือตัวแทนผู้รับมอบอำนาจของตนอาจจะกำจัดป้ายหรือโฆษณาอันไม่น่าพอใจใดๆ ในเวลาใดๆ ก็ได้หลังจากนั้นโดยไม่จำต้องรับผิดชอบต่อโจทก์สำหรับมูลค่าวัสดุดังกล่าวหรือสิทธิเรียกร้องอื่นใดที่โจทก์มีต่อบริษัทฯ โดยโจทก์ไม่มีอิสระที่จะตัดสินใจได้เองตามความพอใจของโจทก์ และเมื่อพิจารณาประกอบข้อสัญญาในส่วนของอารัมภบทกับสัญญา ข้ออื่นที่ระบุข้อตกลงว่า บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้า “พิซซ่า ฮัท” และ ลักษณะบ่งชี้อันเป็นทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งใช้สำหรับและเกี่ยวกับ “สินค้า” และ “ระบบ” ของบริษัทฯ และบริษัทฯ มีสิทธิและมีดุลพินิจที่จะเพิ่มเติม ลด หรือเปลี่ยนแปลง “เครื่องหมาย” แต่ผู้เดียวโดยโจทก์ผู้รับแฟรนไชส์หามีสิทธิหรือดุลพินิจที่จะเกี่ยวข้องไม่แล้ว ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่า การโฆษณาและส่งเสริมการขายตามสัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์กับบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ เป็นข้อตกลงที่กำหนดให้โจทก์ต้องปฏิบัติภายใต้การควบคุมและดุลพินิจของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ โดยเฉพาะโจทก์ในฐานะผู้รับแฟรนไชส์ไม่มีอิสระที่จะทำการโฆษณาตามรูปแบบและเนื้อหาที่โจทก์ต้องการได้เลย ดังนั้น งบโฆษณาและส่งเสริมการขายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามจุดห้าของ “ยอดขายรวม” ต่อปี แม้โจทก์จะมิได้จ่ายให้แก่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ผู้ให้แฟรนไชส์แก่โจทก์โดยตรงก็ตาม แต่ก็เป็นประโยชน์ที่บริษัทฯ ดังกล่าวได้รับโดยไม่ต้องไปดำเนินการโฆษณาสินค้าภายใต้ “เครื่องหมาย” ของตนตามรูปแบบและเนื้อหาที่ตนพอใจ จึงถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามบทนิยามความหมายของ “เงินได้พึงประเมิน” ในมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อปรากฏตามสัญญาแฟรนไชส์ว่า โจทก์จะต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายเช่นว่านี้เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสามจุดห้าของ “ยอดขายรวม” ต่อปี แสดงว่าโจทก์ต้องใช้งบโฆษณาและส่งเสริมการขายเช่นว่านี้ตามสัญญาก็เพื่อตอบแทนการที่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ยินยอมให้โจทก์เป็นผู้รับแฟรนไชส์ กรณีจึงถือได้ว่าบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ผู้ให้โจทก์ได้ใช้สิทธิในแฟรนไชส์ของตนได้รับประโยชน์คือ “เงินได้พึงประเมิน” เช่นว่านี้เป็นส่วนหนึ่งของค่าแฟรนไชส์นอกเหนือจากที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญาเข้าลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร และการที่โจทก์จ่ายเงินค่าแฟรนไชส์ที่เข้าลักษณะเป็นค่าแห่งสิทธิอย่างอื่นตามมาตรา 40 (3) ให้แก่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ เช่นนี้ ย่อมเข้าลักษณะเป็นการชำระราคาค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร โจทก์ผู้จ่ายเงินค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 83/6 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น การประเมินตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมิน และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงชอบแล้ว
ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากรมิได้บัญญัติรวมไปถึงกรณีที่ถือได้ว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับเงินได้พึงประเมินเพราะคำว่า “ได้รับเงินได้พึงประเมิน” ตามมาตรา 70 หมายถึงกรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล “ได้รับ” เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ดังนั้น เงินได้พึงประเมินที่จะนำมาคำนวณภาษีจึงต้องเป็นสิ่งที่ได้รับมาแล้วมิใช่เป็นสิ่งที่ถือเสมือนว่าได้รับ นั้น เห็นว่า แม้มาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร จะมิได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าให้หมายความรวมถึงประโยชน์ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้รับก็ตาม แต่เมื่อมาตรา 70 บัญญัติโดยใช้ถ้อยคำว่า “เงินได้พึงประเมิน” อันเป็นถ้อยคำตรงกับที่นิยามความหมายไว้ในมาตรา 39 ศาลย่อมอยู่ในบังคับต้องถือตามความหมายดังที่ได้กำหนดไวในบทมาตราดังกล่าวด้วย กล่าวคือคำว่า “เงินได้พึงประเมิน” ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 70 ต้องถือตามความหมายที่มาตรา 39 ได้กำหนดนิยามเอาไว้ซึ่ง “…ให้หมายความรวมถึง ทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน…ด้วย” เพราะหากไม่ถือตามความหมายที่กฎหมายได้นิยามกำหนดความหมายเอาไว้ กรณีที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่มีสิทธิที่จะได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 70 ก็จะสามารถวางแผนการบริหารจัดการภาษีโดยหลบเลี่ยงมาตรา 70 ดังกล่าวด้วยการกำหนดในสัญญาให้คู่สัญญาซึ่งต้องจ่ายเงินได้พึงประเมินให้แก่ตน จ่ายค่าตอบแทนในลักษณะเป็นประโยชน์ซึ่งสามารถคิดคำนวณเป็นเงินได้แทน ซึ่งจะไม่เป็นธรรมแก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นๆ ที่ทำสัญญากำหนดค่าตอบแทนแบบตรงไปตรงมาแต่ต้องเสียภาษี อันจักส่งผลให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยถือเป็นแบบอย่างในการวางแผนการบริหารจัดการภาษีของตนได้เช่นกัน ซึ่งย่อมส่งผลให้ในที่สุดกรมสรรพากรไม่สามารถเก็บภาษีได้ถูกต้องและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของมาตรา 70 แห่งประมวลรัษฎากร
ส่วนที่โจทก์แก้อุทธรณ์ว่า บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ มิได้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย ค่าใช้จ่ายในการโฆษณาและส่งเสริมการขายจึงเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของโจทก์ในประเทศไทยเท่านั้น นั้น เห็นว่า หากการโฆษณาและส่งเสริมการขายเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของโจทก์ในการเพิ่มยอดขาย ย่อมส่งผลโดยตรงต่อรายได้ของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ในส่วนของค่าบริการรายไตรมาสตามสัญญาแฟรนไชส์ที่กำหนดให้ประเมินในอัตราร้อยละสี่ของ “ยอดขาย” ในแต่ละไตรมาสของ “ร้านต่างๆ” ของโจทก์ด้วย อีกทั้งผลของการโฆษณาย่อมสนับสนุนส่งเสิรมกู๊ดวิลล์ (Goodwill) และเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายบริการและชื่อทางการค้า “พิซซ่า ฮัท” ของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ไปในตัว ซึ่งในที่สุดย่อมส่งผลให้บริษัทดังกล่าวผู้ให้แฟรนไชส์มีอำนาจต่อรองที่จะเรียกร้องค่าตอบแทนจากโจทก์หรือผู้ขอใช้สิทธิแฟรนไชส์รายอื่นๆ ในรูปของค่าแฟรนไชส์ขั้นต้นตามสัญญาได้เพิ่มมากขึ้นด้วย ผลประโยชน์ที่ได้จากการโฆษณาและส่งเสริมการขายที่โจทก์มีหน้าที่ต้องกระทำตามสัญญา ในที่สุดจึงตกได้แก่บริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ผู้ให้ใช้สิทธิแฟรนไชส์โดยตรง หาใช่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของโจทก์เท่านั้นดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ไม่
คำแก้อุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อไปที่อ้างว่า สัญญาแฟรนไชส์มิได้สัญญาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ลิขสิทธิ์ แต่เป็นสัญญาที่ครอบคลุมรูปแบบกิจการการดำเนินงานของพิซซ่า ฮัท ซึ่งบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ เป็นผู้ก่อตั้ง อันมีลักษณะเฉพาะตัวประกอบด้วยแบบอาคาร ป้ายโฆษณา อุปกรณ์ที่ออกแบบไว้เป็นพิเศษ แผนผัง อุปกรณ์ สูตรและตำรับอาหาร เทคนิค ระบบและวิธีการดำเนินธุรกิจ ซึ่งมิได้รวมถึงเฉพาะ “ลิขสิทธิ์” ใดๆ ของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ ข้อสัญญาเกี่ยวกับการโฆษณาหรือส่งเสริมการขายที่โจทก์จ่ายให้บรรดาบริษัทสื่อโฆษณาในประเทศไทยจึงมิใช่เงินได้ประเภท “ค่าแห่งลิขสิทธิ์” ของบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ นั้น เห็นว่า ตามมาตรา 40 (3) มิได้ระบุเฉพาะ “ค่าแห่งลิขสิทธิ์” เพียงอย่างเดียว หากแต่บัญญัติว่า “ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น…” ด้วย ดังนั้น แม้สัญญาแฟรนไชส์ระหว่างโจทก์กับบริษัทพิซซ่า ฮัท อิงค์ จะไม่เข้าลักษณะเป็น “ค่าแห่งลิขสิทธิ์” ดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำแก้อุทธรณ์ก็ตาม แต่ก็มีลักษณะเป็นค่าตอบแทนในการใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งจัดเป็นค่าแห่งสิทธิอื่นๆ ทำนองเดียวกับค่าแห่งกู๊ดวิลล์และค่าแห่งลิขสิทธิ์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ

Share