แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนับเป็นหลักในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา เมื่อโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินซึ่งพิมพ์ข้อความว่าประจำปีภาษี 2546 โดยโจทก์ผู้รับประเมินแจ้งรายการทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2545 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 นั้น จึงชอบแล้ว
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มาตรา 23 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองหรือผู้แทน… ในการนี้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า หรือผู้ครองจะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจนั้น มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตราก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อนทำการตรวจ ดังนั้น การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามมาตราดังกล่าว จึงไม่ถึงกับทำให้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่นั้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ที่ทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นอันเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายซึ่งไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมาย
กรณีคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (4) ประกอบด้วยกรณีที่ว่าเหตุผล (ที่ต้องแสดง) นั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ย่อมเป็นปัญหาข้อเท็จจริง กรณีนี้โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 และคำชี้ขาดของคณะกรรมการการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ตามรายงานการประชุมวันที่ 11 เมษายน 2546 กับให้คืนภาษีโรงเรือนและที่ดินจำนวน 602,871.45 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งห้า โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 (โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2546 ระบุรายการทรัพย์สินว่า ห้องอาหารสิชล ค่าเช่าหรือประโยชน์อย่างอื่นที่อาจคิดเป็นตัวเงินได้เดือนละ 1,000 บาท รวม 12 เดือน เป็นค่ารายปี 12,000 บาท ห้องซูพีเรียจำนวน 28 ห้อง เปิดทำการขายจำนวน 10 ห้อง ห้องละ 300 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่ารายปี 144,000 บาท ห้องเดอร์ลุกซ์ จำนวน 177 ห้อง เปิดทำการขายจำนวน 80 ห้อง ห้องละ 458 บาท โดย 1 เดือนคิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่ารายปี 1,758,720 บาท บ้านริมธารจำนวน 22 หลัง เปิดทำการขายจำนวน 12 หลัง หลังละ 863 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่ารายปี 497,088 บาท บ้านชลธารจำนวน 3 หลัง เปิดทำการขายจำนวน 3 หลัง คิดค่าเช่าวันละ 613 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่ารายปี 88,272 บาท บ้านสีดาทาวน์เฮาส์จำนวน 17 หลัง เปิดทำการขายจำนวน 12 หลัง หลังละ 863 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่ารายปี 497,088 บาท ส่วนห้องแกรนด์บอลรูมยังไม่เปิดบริการ บ้านบังกะโล วี.ไอ.พี. มีไว้สำหรับรับรองลูกค้าของโจทก์ บ้านชิดธารไม่ได้เปิดขายเพราะชำรุด บ้านเชิงดอยปิดซ่อมแซม และไม่มีรายได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีใบแจ้งรายการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีที่พึงชำระสำหรับทรัพย์สินของโจทก์เป็นค่าภาษี 919,086 บาท โดยประเมินห้องซูพีเรียจำนวน 28 ห้อง ห้องละ 300 บาท 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 50,000 บาท ห้องเดอร์ลุกซ์ มีจำนวน 177 ห้อง ห้องละ 458 บาท 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 486,396 บาท บ้านริมธารจำนวน 22 หลัง หลังละ 863 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 113,926 บาท บ้านชลธารจำนวน 3 หลัง หลังละ 613 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 11,034 บาท บ้านสีดาทาวน์เฮาส์จำนวน 17 หลัง หลังละ 863 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 88,026 บาท บ้านบังกะโล วี.ไอ.พี. จำนวน 5 หลัง หลังละ 3,000 บาท 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 90,000 บาท บ้านชิดธารจำนวน 7 หลัง หลังละ 863 บาท 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 36,246 บาท บ้านเชิงดอยจำนวน 6 หลัง หลังละ 863 บาท โดย 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 31,068 บาท และห้องอาหารสิชลห้องละ 2,000 บาท 1 เดือน คิดค่าเช่า 4 วัน หรือปีละ 48 วัน เป็นค่าภาษี 12,000 บาท รวมเป็นค่าภาษี 919,086 บาท โดยไม่ได้ประเมินห้องคาราโอเกะ อาคารสนุกเกอร์ สีดาสปอร์ตคลับ อาคารธาราวลัย 1 (ห้องประชุม) อาคารราชาวดี 1 (ห้องประชุม) อาคารห้องประชุม 3 ห้อง และห้องแกรนด์บอลรูม 1 ห้อง โจทก์ขอให้พิจารณาและทบทวนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ จำเลยที่ 1 มีหนังสือลงวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 (ที่ถูก 2546) แจ้งผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ให้โจทก์ทราบว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ได้ประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินถูกต้องแล้ว ก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์นำค่าภาษีและเงินเพิ่มไปวางที่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดนครนายกเพื่อชำระแก่จำเลยที่ 1 แล้ว
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการแรกว่า จำเลยทั้งห้าได้ให้การปฏิเสธคำฟ้องของโจทก์ในประเด็นเรื่องการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2545 (ที่ถูก 2546) หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และมาตรา 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินหรือบุคคลผู้พึงชำระค่าภาษีมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์โดยนำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วนั้นเป็นหลักในการคำนวณภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา เมื่อได้ความว่าวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2546 โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ซึ่งพิมพ์ข้อความว่าประจำปีภาษี 2546 โดยโจทก์ผู้รับประเมินแจ้งรายการทรัพย์สินที่โจทก์ใช้ในปี 2545 ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในท้องที่ซึ่งทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ทำการประเมินและแจ้งจำนวนภาษีที่ต้องชำระ จำเลยที่ 1 มีใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 ให้โจทก์ชำระค่าภาษี 919,086 บาท ภาษีดังกล่าวเรียกว่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 ดังนั้น ที่โจทก์กล่าวในคำฟ้องว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2546 สำหรับทรัพย์สินที่ใช้ในปี 2545 นั้น จึงชอบแล้ว มิใช่เป็นการแจ้งรายการประเมินภาษีปี 2545 ดังที่โจทก์เข้าใจ การที่จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธถึงภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 มิได้นอกเหนือคำฟ้องของโจทก์ ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้องและวินิจฉัยประเด็นผิดพลาดนั้น เมื่อปรากฏว่า ศาลภาษีอากรกลางกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ถูกต้องแล้ว มิได้วินิจฉัยประเด็นผิดพลาดแต่ประการใด อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในประการต่อไปว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปี 2546 ของจำเลยที่ 1 ชอบหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 บัญญัติว่า “ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา” สำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า คือจำนวนเงิน ซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปีแต่ถ้าเป็นกรณีทีมีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพยสินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์แสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าในปีภาษี 2546 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีของห้องพักและบ้านพักตามอัตราค่าเช่าที่โจทก์ระบุในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2546 ซึ่งเท่ากับค่ารายปีของห้องพักและบ้านพักตามแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2545 อันเป็นปีภาษีที่ล่วงมาแล้วจึงถือว่า จำเลยที่ 1 นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้นมาเป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีที่จะต้องเสียในปีต่อมาแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์อ้างว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นำห้องพักและบ้านที่โจทก์ปิดเพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมและไม่ได้เปิดบริการแก่ลูกค้ามารวมคำนวณหาค่ารายปี ทำให้ค่ารายปีของปีภาษี 2546 สูงกว่าปีภาษี 2545 นั้น โจทก์มีนายอารักษ์ นายประพันธ์ นายดี และนายอนันต์ ซึ่งล้วนเป็นพนักงานและลูกจ้างของโจทก์มาเบิกความเป็นพยานว่าโจทก์ปิดปรับปรุงซ่อมแซมห้องพักและบ้านพักโดยไม่มีเอกสารหรือหลักฐานใดที่บ่งชี้ว่าได้มีการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซมห้องพักและบ้านพักดังกล่าว อีกทั้งยังขัดแย้งกับใบเสนอราคาค่าเช่าห้องพักและบ้านพักของโรงแรมโจทก์ที่นายอารักษ์ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านรับว่า เป็นใบเสนอราคาค่าเช่าห้องพักและบ้านพักที่โจทก์จัดทำขึ้นในปี 2546 มีราคาเดียวกับปี 2544 และปี 2545 ซึ่งเอกสารดังกล่าวระบุรายการจำนวนห้องพักและบ้านพักสอดคล้องกับคำของจำเลยที่ 2 และที่ 5 พยานจำเลยทั้งห้าที่เบิกความว่า ในช่วงปี 2545 พยานทั้งสองร่วมกับนายเผชิญ หัวหน้าส่วนโยธาของจำเลยที่ 1 สำรวจห้องพักและบ้านพักของโจทก์เดือนละ 2 ถึง 3 ครั้ง พบว่าห้องซูพีเรียมีจำนวน 28 ห้อง ห้องเดอร์ลุกซ์มีจำนวน 177 ห้อง บ้านริมธารมีจำนวน 22 หลัง บ้านสีดาทาวน์เฮาส์มีจำนวน 17 หลัง บ้านชิดธารกับบ้านเชิงดอยรวมจำนวน 13 หลัง และบ้านบังกะโล วี.ไอ.พี. จำนวน 5 หลัง มีสภาพที่สามารถให้บริการลูกค้าได้และโจทก์ยังเปิดใช้บริการ ไม่พบหลักฐานอันแสดงหรือบ่งชี้ว่ามีการปิดซ่อมหรือไม่เปิดให้เช่าดังที่โจทก์อ้าง ประกอบกับในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2545 ของโจทก์ โจทก์แจ้งรายการระบุบ้านบังกะโล วี.ไอ.พ. จำนวน 5 หลัง ไว้สำหรับรับรองแขกของโจทก์ย่อมสนับสนุนให้คำเบิกความของจำเลยที่ 2 และที่ 5 มีน้ำหนักยิ่งขึ้น พยานหลักฐานของจำเลยทั้งห้ามีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์จึงน่าเชื่อว่า ห้องพักและบ้านพักของโรงแรมโจทก์ที่เปิดให้บริการในปีภาษี 2546 มีจำนวนตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินดังที่จำเลยทั้งห้านำสืบ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์โดยใช้อัตราค่าเช่าห้องพักและบ้านพักที่โจทกแจ้งไว้ในแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด. 2) ประจำปี 2546 ทุกรายการ ส่วนบ้านบังกะโล วี.ไอ.พี. จำนวน 5 หลัง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าเช่าหลังละ 3,000 บาทต่อวัน โดยพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งสะดวกสบายที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับห้องพักและบ้านพักอื่นของโจทก์ บ้านชิดธารและบ้านเชิงดอย พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่าเช่าไว้หลังละ 863 บาทต่อวัน โดยเปรียบเทียบกับบ้านริมธาร ซึ่งราคาที่ประเมินดังกล่าวล้วนต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเช่าบ้านต่างๆ ที่โจทก์แสดงรายการไว้ในใบเสนอราคาค่าเช่าห้องพักและบ้านพักโจทก์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ก็ประเมินค่าเช่าเพียงปีละ 48 วัน หรือ 1 เดือน คิดเพียง 4 วัน อีกทั้งไม่ได้ประเมินทรัพย์สินอื่นในโรงแรมของโจทก์ไม่ว่าจะเป็นห้องคาราโอเกะ ห้องออกกำลังกาย ห้องซาวน่า สระว่ายน้ำ อาคารสนุกเกอร์ อาคารห้องประชุมสำหรับจัดอบรมสัมมนาและจัดเลี้ยงรวมทั้งพื้นที่ที่ดินต่อเนื่องอีก 200 ไร่ นับว่าเป็นคุณแก่โจทก์มากแล้ว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามมาตรา 24 (ที่ถูก มาตรา 23) แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 นั้น เห็นว่า เพื่อประโยชน์ในการประเมิน มาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะเข้าไปตรวจตราทรัพย์สินได้ด้วยตนเองต่อหน้าผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครอบครองหรือผู้แทน…และเมื่อผู้รับประเมิน ผู้เช่าหรือผู้ครองได้รับคำขอร้องแล้วก็จะต้องให้ความสะดวกตามสมควรแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ในการตรวจตรานั้น ในการนี้ผู้รับประเมิน ผู้เช่า หรือผู้ครอง จะต้องได้รับแจ้งความเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบไม่ต่ำกว่าสี่สิบแปดชั่วโมงก่อนตรวจนั้น มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์ที่จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อนทำการตรวจ ดังนั้นจึงไม่ถึงกับทำให้การประเมินไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ผลการสอบข้อเท็จจริงที่โจทก์ร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายกสรุปว่า กระบวนการประเมินค่ารายปีโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และการชี้ขาดคำร้องเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่น่าจะถูกต้องและชอบด้วยเหตุผลนั้น ในชั้นพิจารณาของศาล พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 การพิจารณาชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ชอบ เพราะมิได้นำเทียบเคียงกับวังรีรีสอร์ทและโรงแรมรอแยลฮีลนั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำสืบถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์เทียบเคียงกับทรัพย์สินของโจทก์ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับโรงแรมของโจทก์ได้ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมในวันที่ 11 เมษายน 2546 คำชี้ขาดจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำสั่งองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งที่ 6/2546 เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาประเมินค่ารายปีและคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ประจำปี 2546 ลงวันที่ 2 มกราคม 2546 ข้อ 2 ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่พิจารณากลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นต่อคณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ และพิจารณาความเห็นอื่นๆ ตามที่ประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมอบหมายอันเกี่ยวกับการพิจารณาคำร้องให้พิจารณาการประเมินใหม่ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเป็นผู้มีอำนาจแจ้งคำชี้ขาดแก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 25 ถึงมาตรา 30 แสดงว่าการเข้าร่วมประชุมของจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการที่จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นไปด้วยความเรียบร้อยความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่เป็นการช่วยกลั่นกรองตรวจสอบและเสนอข้อคิดเห็นอันเกี่ยวกับงานที่ได้รับมอบหมายไม่มีผลบังคับผูกพันประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งให้ต้องถือตาม และกฎหมายดังกล่าวก็มิได้กำหนดองค์ประกอบหรือองค์ประชุมของคณะกรรมการดังกล่าวไว้ แม้จำเลยที่ 4 จะเบิกความว่า มิได้เข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าว แต่จำเลยที่ 4 ก็เบิกความรับว่า ได้ลงลายมือชื่อเป็นกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่และรับรองรายงานการประชุม โดยมิได้โต้แย้ง จึงไม่ถึงกับทำให้ความเห็นของคณะกรรมการตามรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวเสียไป อีกทั้งจำเลยที่ 2 ในฐานะประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งมีอำนาจหน้าที่จะใช้ดุลพินิจและตัดสินใจที่จะชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีใหม่นั้นด้วยตนเองโดยไม่จำต้องชี้ขาดตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาคำร้องชุดดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ที่โจทก์ยื่นคำแถลงการณ์เป็นหนังสือลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2548 เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรว่า หนังสือแจ้งการประเมินของจำเลยที่ 1 และคำชี้ขาดคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใช้บังคับแก่โจทก์มิได้ และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลภาษีอากรกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้นั้น เห็นว่า กรณีคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาถึงกรณีอันเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือไม่ต้องแสดงเหตุผลดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 37 วรรคสาม (1) ถึง (8) ประกอบด้วย โดยเฉพาะคดีนี้เมื่อพิจารณาถึงกรณีตาม (2) ที่ว่า เหตุผล (ที่ต้องแสดง) นั้นเป็นที่รู้จักกันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก เห็นได้ว่า การที่เหตุผลนั้นจะเป็นที่รู้กันอยู่แล้วหรือไม่ย่อมเป็นปัญหาในข้อเท็จจริงและกรณีนี้โจทก์มิได้กล่าวมาในฟ้อง จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ทั้งมิใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5), 225 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่วินิจฉัยให้”
พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 4,000 บาท แทนจำเลยทั้งห้า คืนค่าขึ้นศาลที่เสียเกินมาจำนวน 19,255 บาท แก่โจทก์