คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 254/2520

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยส่งเอกสารต่อศาลโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ ครั้นโจทก์คัดค้านว่าไม่ควรรับฟัง จำเลยแถลงว่าต้นฉบับอยู่ในความครอบครองของทางราชการ จะได้หมายเรียกต้นฉบับมา แต่แล้วจำเลยก็มิได้ขอให้ศาลหมายเรียกมา เมื่อเอกสารที่จำเลยส่งศาลเป็นสำเนาซึ่งไม่มีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจรับรองว่าถูกต้องกับต้นฉบับ จึงรับฟังไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 93
จำเลยเดินรถรับส่งคนโดยสารเที่ยกลับช่วงหนึ่งทับเส้นทางสัมปทานของโจทก์เฉพาะทุกวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 12 ถึง 19 น. ทั้งนี้ เนื่องจากตามวันเวลานั้นเจ้าพนักงานจราจรได้ออกประกาศให้รถเดินทางเดียวในถนนสายหนึ่งซึ่งอยู่ในเส้นทางสัมปทานของจำเลยเมื่อได้ความว่าในกรณีเช่นนี้ไม่มีข้อบังคับให้จำเลยต้องรายงานต่อกรมการขนส่งทางบกเพื่อประกาศเปลี่ยนเส้นทางให้ถูกต้องเสมอไป โดยหากไม่มีการโต้แย้งกันก็ไม่ต้องรายงาน และจำเลยก็ได้เดินรถทับเส้นทางเดินรถของโจทก์เพียง 1 กิโลเมตรเศษ ทั้งปรากฏว่าโจทก์เองเปลี่ยนไปเดินรถทับเส้นทางเดินรถของผู้อื่น โดยโจทก์ไม่ได้แจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบเช่นกัน การเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเอาเองในกรณีนี้จึงเป็นเรื่องอะลุ้มอล่วยถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน จำเลยมิได้เจตนาจงใจเดินรถทับเส้นทางสัมปทานของโจทก์โดยพลการโจทก์เองก็เพิ่งร้องเรียนต่อกรมการขนส่งทางบกหลังจากจำเลยเดินรถทับเส้นทาง 3 ปีเศษแล้ว ดังนี้ จะถือว่าจำเลยเดินรถทับเส้นทางเดินรถของโจทก์ โดยฝ่าฝืนคำสั่งของกรมการขนส่งทางบกหาได้ไม่ แต่เมื่อกรมการขนส่งทางบกได้สั่งให้จำเลยเปลี่ยนเส้นทางเดินรถใหม่ไม่ให้ทับเส้นทางของโจทก์ตามที่โจทก์ร้องเรียนแล้ว จำเลยยังเดินรถตามเส้นทางเดิมต่อไปอีก แม้เพราะจำเลยอุทธรณ์คำสั่งต่อปลัดกระทรวงคมนาคมอยู่ก็ตาม แต่เมื่อต่อมาปลัดกระทรวงคมนาคมได้สั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางบกแล้ว การกระทำของจำเลยขนส่งทางบก จนถึงวันสุดท้ายที่จำเลยเดินรถทับเส้นทางสัมปทานของโจทก์ ตามจำนวนวันเสาร์ในระยะนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๘ ให้เป็นผู้ประกอบกิจการขนส่งประจำทางโดยรถยนต์โดยสารบนเส้นทางสายที่ ๑๖ หมวด ๑ จากเตาปูนไปตามถนนกรุงเทพ-นนทบุรี ไปสุดปลายทางที่หัวถนนสุรวงศ์ จำเลยเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการขนส่งประจำทางด้วยรถยนต์โดยสารบนเส้นทางสายที่ ๒๑ จากบางประกอกสุดปลายทางที่หน้าจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ด้วยการวิ่งรับส่งผู้โดยสารทับเส้นทางสัมปทานของโจทก์ในวันเสาร์ที่มีการแข่งม้า ระหว่างเวลา ๑๒ ถึง ๑๙ น. ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขาดรายได้ที่ควรได้โดยโจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียง ๑ ปี เป็นเงิน ๑๒๔,๘๐๐ บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๑๒๔,๘๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ห้ามไม่ให้จำเลยนำรถประจำทางสายที่ ๒๑ วิ่งรับส่งผู้โดยสารทับเส้นทางของโจทก์ให้จำเลยชดใช้เงินแก่โจทก์สัปดาห์ละ ๒,๔๐๐ บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะหยุดทำละเมิดต่อโจทก์
จำเลยให้การว่าเส้นทางเดินรถของโจทก์ตามฟ้องไม่ถูกต้อง ความจริงในวันเสาร์ครึ่งวันที่มีการแข่งม้า เจ้าพนักงานปิดถนนอังรีดูนังต์เปิดให้รถเดินได้ทางเดียว คือให้เข้าทางถนนพระราม ๑ ออกทางถนนพระราม ๔ รถของจำเลยได้เลี้ยวซ้ายเข้าถนนพญาไทวนมาเข้าถนนอังรีดูนังต์ทางด้านถนนพระราม ๑ ได้ถือปฏิบัติเช่นนี้โดยสงบเรียบร้อยมาประมาณ ๑๐ ปีแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานและโจทก์รู้เห็นยินยอม คดีโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๘ และการที่โจทก์ละเลยสิทธิของตนมาตั้ง ๑๐ ปีเช่นนี้ จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา ๒๒๓ วรรค ๒ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๕ เป็นสำเนาเอกสาร จำเลยไม่ได้อ้างต้นฉบับเป็นพยานและเอกสารหมาย ล. ๖, ล.๗ เป็นเอกสารอยู่ในความครอบครองของจำเลย จำเลยไม่ส่งสำเนาให้ศาลและโจทก์ก่อนวันสืบพยาน เอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๗ จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานไม่ได้และฟังว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์ คดียังไม่ขาดอายุความ พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวม ๑๕,๙๘๔ บาท กับดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี รวม ๑๖ จำนวน แต่ละจำนวนในต้อเงิน ๙๙๙ บาท นับแต่วันเสาร์ที่ ๘, ๑๕, ๒๒, ๒๙ มกราคม ๒๕๑๕ วันเสาร์ที่ ๕, ๑๒,๑๙, ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ วันเสาร์ที่ ๔, ๑๑, ๑๘, ๒๕ มีนาคม ๒๕๑๕ และวันเสาร์ที่ ๑, ๘, ๑๕, ๒๒ เมษายน ๒๕๑๕ เป็นต้นไปตามลำดับ จนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยก
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดถอยหลังไป ๑ ปี นับแต่วันฟ้องรวมมีวันเสาร์ ๕๑ วัน เป็นเงิน ๕๐,๙๔๙ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่โจทก์นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๗ นี้ จำเลยส่งศาลโดยไม่ส่งสำเนาให้โจทก์ โจทก์จึงแถลงคัดค้านว่าไม่ควรรับฟัง จำเลยแถลงว่าต้นฉบับเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของทางราชการ จะได้หมายเรียกต้นฉบับมาประกอบ แต่จำเลยก็มิได้ขอให้ศาลหมายเรียกต้นฉบับมาศาลตามที่แถลงและเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๗ นี้เป็นสำเนาเอกสาร ไม่มีเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจรับรองว่าถูกต้องกับต้นฉบับ จึงรับฟังเป็นพยานไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ๙๓
ในปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อเจ้าพนักงานจราจรได้ออกประกาศกำหนดให้รถเดินทางเดียวในถนนอังรีดูนังต์ตลอดสาย โดยให้เข้าจากถนนพระราม ๑ ออกถนนพระราม ๔ ตั้งแต่เวลา ๑๒ นาฬิกา ถึง ๑๙ นาฬิกา และให้รถประจำทางเปลี่ยนเส้นทางเดินรถชั่วคราวตามประกาศกรมการขนส่งทางบกทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๑๑เป็นต้นไปแล้วนั้น ไม่มีระเบียบให้กรมการขนส่งทางบกทราบประกาศของเจ้าพนักงานจราจรอย่างไร แต่ได้ความว่าในทางปฏิบัติกรมตำรวจจะส่งคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจนนี้มาให้กรมการขนส่งทางบกพิจารณาเพื่อเปลี่ยนเส้นทางเดินรถประจำทาง และบริษัทจำเลยก็ต้องรายงานให้กรมการขนส่งทางบกทราบด้วย แต่เรื่องนี้กรมตำรวจและบริษัทจำเลยมิได้แจ้ง เห็นว่าทางปฏิบัติเช่นนี้ไม่ใช่ข้อบังคับที่จำเลยจะต้องปฏิบัติเสมอไป หากการเปลี่ยนเส้นทางเดินรถชั่วคราวไม่มีการโต้แย้งกันก็ไม่ต้องรายงานให้กรมการขนส่งทางบกทราบ นายสนองอธิบดีกรมการขนส่งทางบกก็เบิกความว่า เมื่อมีการปิดเส้นทางเดินรถตอนใดตอนหนึ่ง คณะกรรมการขนส่งเคยมีมติให้รถประจำทางที่เดินผ่านเส้นทางนั้นพยายามหาทางเดินให้เข้าสู่เส้นทางนั้นตามเส้นทางที่ใกล้ที่สุด และปรากฏว่าเมื่อมีคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร รถประจำทางของจำเลยต้องเปลี่ยนเส้นทางทั้งเที่ยวไปและเที่ยวกลับ โดยเฉพาะเที่ยวกลับก็คือเส้นทางเดินรถเที่ยวไปของจำเลยนั่นเอง โดยทับเส้นทางเดินรถของโจทก์เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตรเศษ ส่วนรถโจทก์เที่ยวกลับต้องเปลี่ยนเส้นทางไปทับเส้นทางเดินรถประจำทางของบริษัทอื่นเป็นระยะทาง ๑ กิโลเมตรเศษเช่นเดียวกัน แต่บริษัทนั้นมิได้ร้องเรียนต่อกรมการขนส่งทางบก ทั้งโจทก์และจำเลยต่างเปลี่ยนเส้นทางเดินรถเอาเอง โดยมิได้แจ้งให้กรมการขนส่งทางบกทราบ การที่จำเลยและโจทก์เปลี่ยนเส้นทางเดินรถเอาเองเนื่องจากมีคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจรให้เดินรถทางเดียวชั่วคราวในถนนอังรีดูนังต์ในวันเสาร์ที่มีการแข่งม้านั้น จึงเป็นเรื่องอะลุ้มอล่วยถ้อยทีถ้อยอาศัยซึ่งกันและกัน จำเลยมิได้มีเจตนาจงใจเดินรถทับเส้นทางเดินรถของโจทก์โดยพลการ โจทก์เพิ่งจะมาร้องเรียนต่อกรมการขนส่งทางบกเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๑๔ หลังจากที่จำเลยเดินรถทับเส้นทางเดินรถของโจทก์ ๓ ปีเศษ และกรมการขนส่งก็เพิ่งมีหนังสือสั่งให้จำเลยเปลี่ยนเส้นทางเดินรถใหม่ไม่ให้ทับเส้นทางเดินรถของโจทก์ตั้งแต่วันเสาร์ที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๕ เป็นต้นไป ส่วนรถโจทก์กรมการขนส่งทางบกก็เพิ่งมีคำสั่งให้เดินตามเส้นทางที่โจทก์เปลี่ยนเอาเองดังกล่าวได้เช่นกัน นายสุจินต์พยานโจทก์ซึ่งเคยเป็นหัวหน้ากองตรวจการขนส่ง กรมการขนส่งทางบก ก็เบิกความแต่เพียงว่าจำเลยมิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางบกตามหนังสือลงวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๑๔ เท่านั้น ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าก่อนวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๑๕ จำเลยเดินรถทับเส้นทางเดินรถของโจทก์โดยฝ่าฝืนคำสั่งของกรมการขนส่งทางบก จำเลยได้รับหนังสือของกรมการขนส่งทางบก เมื่อ ๖ มกราคม ๒๕๑๕ แต่ยังคงเดินรถตามเส้นทางเดิมต่อไป เพราะได้อุทธรณ์ไปยังอธิบดีกรมการขนส่งทางบกและปลัดกระทรวงคมนาคม เมื่อได้รับหนังสือของปลัดกระทรวงคมนาคมลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๕ ซึ่งสั่งให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของกรมการขนส่งทางบกแล้ว จำเลยก็เลิกเดินรถทับเส้นทางเดินรถของโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๑๕ จึงเป็นเวลาที่จำเลยทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ ๗ มกราคม ๒๕๑๕ ถึงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๑๕ รวม ๑๖ วันเสาร์
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๑๕ คดีไม่ขาดอายุความ ส่วนค่าเสียหายเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นกำหนดเป็นการเหมาะสมแล้วแต่ดอกเบี้ยนั้นคำขอท้ายฟ้องของโจทก์คงขอตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
พิพากษาแก้เป็นว่าให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ดอกเบี้ยให้คิดนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์

Share