คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13054/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นิยามคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วยซึ่งการกระทำความผิดฐานผลิตมีอัตราโทษมากกว่าการมีไว้ในครอบครอง ย่อมต้องมีลักษณะการกระทำที่รุนแรงกว่า การต้มใบพืชกระท่อมของจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพ โดยการเปลี่ยนจากการเสพใบสด ๆ มาเป็นการต้มเป็นน้ำเพื่อสะดวกแก่การนำเข้าสู่ร่างกาย ประกอบกับมีปริมาณเป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการนำน้ำต้มพืชกระท่อมของกลางไปผสมกับยาแก้ไอหรือน้ำอัดลมเพื่อให้เกิดการมึนเมา ประสาทหลอน และเป็นอันตรายต่อบุคคลในสังคม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามฟ้องโจทก์ คงมีความผิดฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 26, 75, 76, 100/1, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 91 ริบใบพืชกระท่อมสดที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ หม้อ 1 ใบ ของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง, 76 วรรคสอง ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ลงโทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 3,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 เดือน และปรับ 1,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คุมความประพฤติของจำเลยไว้โดยกำหนดเงื่อนไข และหากไม่ชำระค่าปรับให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนเขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีกำหนด 8 วัน ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 145 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน แต่ให้คืนหม้อ 1 ใบ ของกลางแก่เจ้าของ
โจทก์ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 นิยามของคำว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป หรือสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายรวมถึงการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุด้วย การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยขณะกำลังต้มใบพืชกระท่อมในหม้อ 1 ใบ จนได้น้ำพืชกระท่อมจำนวน 1 ขวด ปริมาตร 1,200 มิลลิลิตร จำเลยรับสารภาพว่า ต้มไว้เพื่อดื่มเอง ไม่ปรากฏว่ามีน้ำพืชกระท่อมบรรจุขวดอื่น ๆ อีกหรือมีเป็นปริมาณมากจนอาจนำไปสู่การจำหน่าย น่าเชื่อว่ามีไว้เพื่อดื่มเอง ซึ่งเหตุผลในการตราพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษและมีการแก้ไขเพิ่มเติม ก็เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่รุนแรงขึ้น แก้ไขโทษให้มีความเหมาะสมกับการกระทำความผิดซึ่งการกระทำความผิดฐานผลิตมีอัตราโทษมากกว่าการมีไว้ในครอบครองย่อมต้องมีลักษณะการกระทำที่รุนแรงกว่า การต้มใบพืชกระท่อมของจำเลยจึงเป็นเพียงวิธีการหนึ่ง ในการเสพโดยการเปลี่ยนจากการเสพใบสด ๆ มาเป็นการต้มเป็นน้ำเพื่อความสะดวกแก่การนำเข้าสู่ร่างกายประกอบกับมีปริมาณเป็นจำนวนเล็กน้อย ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีการนำน้ำต้มพืชกระท่อมของกลางไปผสมกับยาแก้ไอ หรือน้ำอัดลม เพื่อให้เกิดการมึนเมา ประสาทหลอนและเป็นอันตรายต่อบุคคลในสังคมตามที่โจทก์ฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปว่า อุทธรณ์ของโจทก์เกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ เห็นว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า หากศาลอุทธรณ์ภาค 8 ฟังว่า จำเลยกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (โดยการต้มใบพืชกระท่อมเป็นน้ำ) ศาลสามารถปรับบทลงโทษในความผิดฐานดังกล่าวให้หนักขึ้นได้ ส่วนความผิดฐานมีใบพืชกระท่อมสดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 1 กระสอบ (ที่ยังไม่ได้ต้ม) น้ำหนัก 2.20 กิโลกรัม ถือว่ามีจำนวนมาก โทษที่ศาลกำหนดแก่จำเลยจึงยังต่ำไป จึงขอให้กำหนดโทษฐานมีไว้ในครอบครองให้เหมาะสมนั้น เท่ากับโจทก์ติดใจอุทธรณ์ทั้งประเด็นการต้มใบพืชกระท่อมเป็นการกระทำความผิดฐานผลิตหรือไม่ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายและขอปรับโทษให้เป็นฐานผลิต ซึ่งสามารถอุทธรณ์ได้ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ และโจทก์ติดใจอุทธรณ์ในประเด็นการกำหนดอัตราโทษฐานมีไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงโดยพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 180 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้มีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งแล้วให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาเหมือนคดีธรรมดา เว้นแต่… ฯลฯ และมาตรา 6 บัญญัติว่า ให้นำบทบัญญัติแห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ บัญญัติว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง ในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ… ฯลฯ ดังนั้น เมื่อความผิดฐานมีพืชกระท่อมไว้ในครอบครอง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยแต่รอการลงโทษไว้ โจทก์อุทธรณ์โดยมิได้มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ตรี เมื่อโจทก์อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ย่อมต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ ในข้อหาดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า สมควรริบหม้อที่เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ต้มน้ำพืชกระท่อมหรือไม่ เห็นว่าเมื่อยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จึงถือไม่ได้ว่าหม้อของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาไม่ริบและให้คืนหม้อของกลางแก่เจ้าของ จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share