คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4436/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นผู้บังคับบัญชามีอำนาจจะอนุญาตให้โจทก์ลาหรือไม่ก็ได้ แต่การใช้ดุลยพินิจต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลที่วิญญูชนทั่วไปยอมรับได้ว่ามิใช่เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ เมื่อปรากฏว่าจำเลยเคยมีปัญหาไม่พอใจกับโจทก์มาก่อน และเมื่อโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ และภายหลังโจทก์ก็ได้ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียณคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จ เพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์อันเป็นการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษา เขต 8 จะพิจารณายกเลิกคำสั่งดังกล่าว แต่โจทก์ก็ยังมิได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนปกติ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการก่อความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 157
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูลเฉพาะข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จำคุก 1 ปี โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์รับราชการตำแหน่งครูวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ จำเลยรับราชการตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเดียวกัน โจทก์ยื่นใบลากิจต่อจำเลยในฐานะผู้บังคับบัญชา ระบุว่า ขอลากิจส่วนตัววันที่ 4 สิงหาคม 2558 เนื่องจากจะเดินทางไปสถานทูต จำเลยมีคำสั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ไม่อนุญาตว่า การไปสถานทูตมิได้เป็นภารกิจที่จำเป็นและสำคัญยิ่งถึงกับต้องขอลากิจและโรงเรียนไม่ทราบว่าไปทำไม จำเป็นอย่างไร วันที่ 4 สิงหาคม 2558 โจทก์เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อทำวีซ่า วันที่ 5 สิงหาคม 2558 โจทก์ไปปฏิบัติราชการตามปกติ เมื่อทราบว่าจำเลยไม่อนุญาตให้ลากิจ โจทก์ยื่นใบลาป่วยวันที่ 4 สิงหาคม 2558 แทนใบลากิจอ้างว่าเป็นโรคเครียด ปวดศีรษะ จำเลยเกษียนสั่งโดยเว้นทำเครื่องหมายว่าอนุญาตหรือไม่อนุญาต อ้างว่าโรงเรียนไม่ทราบข้อมูลที่แท้จริงว่าลากิจหรือลาป่วย จึงไม่สามารถพิจารณาได้ และเกษียนสั่งเพิ่มเติมว่า หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังว่าลาไปสถานทูตก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นการลาเท็จหรือให้ข้อมูลเท็จ วันที่ 13 สิงหาคม 2558 จำเลยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องการที่โจทก์ยื่นใบลากิจแล้วหยุดราชการก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่อนุญาตให้ลากิจ โจทก์ยื่นใบลาป่วยแทน คณะกรรมการที่จำเลยแต่งตั้งสรุปความเห็นว่า โจทก์เป็นผู้ละทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและทำให้ราชการเกิดความเสียหาย เสนอให้หักเงินเดือนในวันที่ขาดราชการและให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ จำเลยเกษียนสั่งให้หักเงินเดือนในวันที่ขาดราชการและให้งดเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ วันที่ 10 กันยายน 2558 จำเลยมีคำสั่งว่าโจทก์ยื่นใบลาป่วยโดยไม่ได้ป่วยจริง แต่เดินทางไปกิจธุระที่สถานทูตเพื่อขอวีซ่า เป็นการรายงานเท็จ ให้โจทก์เป็นผู้ขาดราชการในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 จำเลยมีคำสั่งให้รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารงบประมาณหักเงินเดือนในวันที่ขาดราชการส่งคืนคลังและงดเลื่อนขั้นเงินเดือนในครั้งที่ 2 (รอบวันที่ 1 ตุลาคม 2558) วันที่ 23 ธันวาคม 2558 จำเลยมีคำสั่งให้หักเงินเดือนโจทก์เป็นเงิน 1,341.29 บาท โดยให้หักเงินเดือนในเดือนธันวาคม 2558 โจทก์ร้องทุกข์ต่อประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาประจำ (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 เรื่องผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้งสั่งลงโทษโดยมิชอบ ไม่ให้เลื่อนขั้นเงินเดือนและหักเงินเดือน 1 วัน โดยมิชอบ วันที่ 22 เมษายน 2559 อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 เห็นว่า การที่โจทก์ยื่นขอลากิจเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 และได้หยุดไปก่อนโดยยังไม่ได้รับอนุญาตการลานั้น เป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลา พ.ศ.2555 แต่ยังไม่เป็นเหตุอันควรที่จะถือว่าเป็นการขาดราชการ ให้ยกเลิกคำสั่งพิพาทที่ 189/2558 ให้พิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ตามผลการประเมินต่อไปตามหนังสือสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 วันที่ 5 มกราคม 2559 จำเลยแจ้งเรื่องการเบิกจ่ายเงินเดือนโจทก์เดือนธันวาคม 2558 ที่ขาดไปเป็นเงิน 1,341.29 บาท ขอนำส่งเงินเดือนที่ขาดคืนโจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า ตามระเบียบการลาที่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาถือเป็นแนวปฏิบัติให้ใช้บังคับตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ.2555 ซึ่งข้าราชการครูมีสิทธิลาป่วยไม่เกิน 60 วัน ลากิจไม่เกิน 30 วัน โดยผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาต ทั้งนี้ อำนาจของจำเลยในฐานะผู้อำนวยการศึกษาผู้มีอำนาจพิจารณาหรืออนุญาตจะเป็นการใช้อำนาจตามเจตนารมณ์ของระเบียบการลาหรือไม่ ต้องพิจารณาว่าการใช้อำนาจนั้นต้องมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ สำหรับคดีนี้ได้ความว่า โจทก์กับนางสาวมาลัยต่างยื่นใบลากิจขอลาหยุดปฏิบัติหน้าที่ในวันที่ 4 สิงหาคม 2558 เพื่อทำวีซ่าเดินทางไปประเทศอังกฤษ โดยโจทก์ยื่นใบลากิจลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 อ้างเหตุเดินทางไปสถานทูต มีนางจุฑารัตน์ ทำความเห็นเบื้องต้นวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ว่าเห็นสมควร แต่จำเลยมีคำสั่งวันที่ 3 สิงหาคม 2558 ว่าไม่อนุญาต ให้เหตุผลว่ามิได้เป็นภารกิจที่จำเป็นและสำคัญยิ่งถึงกับต้องขอลากิจ ส่วนนางสาวมาลัยยื่นใบลากิจลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 อ้างเหตุไปทำธุระส่วนตัวที่กรุงเทพฯ มีผู้ทำความเห็นเบื้องต้นเห็นควรพิจารณา จำเลยกลับมีคำสั่งอนุญาตทันทีในวันเดียวกัน เมื่อพิจารณาใบลากิจของโจทก์มีตราประทับรับใบลาวันที่ 29 กรกฎาคม 2558 จึงน่าเชื่อว่าโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบ เมื่อพิจารณาใบลากิจของโจทก์และนางสาวมาลัยซึ่งมิได้ระบุเหตุผลในการลากิจเป็นพิเศษอย่างไร แต่จำเลยกลับอนุญาตให้นางสาวมาลัยลากิจได้ทันที แสดงว่าจำเลยไม่ใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาการอนุญาตให้นางสาวมาลัยลากิจเช่นเดียวกับที่ใช้กับโจทก์ จึงเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเมื่อโจทก์กลับมาปฏิบัติราชการวันที่ 5 สิงหาคม 2558 ทราบว่าจำเลยไม่อนุญาตให้โจทก์ลากิจ โจทก์ยื่นใบลาป่วย แต่จำเลยไม่มีคำสั่งว่าอนุญาตหรือไม่ เพียงแต่มีคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จหรือให้ข้อมูลเท็จ แล้วมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโจทก์ในเรื่องการลาราชการ จนนำไปสู่การที่จำเลยมีคำสั่งว่า โจทก์เป็นผู้ขาดราชการตามคำสั่งพิพาทที่ 189/2558 ซึ่งจากข้อพิจารณาที่ อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 มีความเห็นว่า คำสั่งจำเลยที่สั่งให้โจทก์เป็นผู้ขาดราชการไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนและตัดเงินเดือน 1 วัน เป็นคำสั่งที่ไม่เหมาะสม ประกอบกับการให้ความเห็นของนายสมพงษ์หนึ่งใน อ.ก.ค.ศ.ว่า การขาดราชการหมายความว่าการไม่มาปฏิบัติราชการโดยไม่มีเหตุผล แสดงว่าการที่โจทก์ยื่นใบลากิจวันที่ 4 สิงหาคม 2558 โดยที่โจทก์ไม่ทราบคำสั่งจำเลยว่าจำเลยจะอนุญาตหรือไม่ แล้วโจทก์ไม่ไปทำงานวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าจำเลยไม่อนุญาตให้ลากิจ โจทก์ยื่นใบลาป่วยแทน ไม่ถือว่าโจทก์จงใจขาดราชการ ดังนั้น คดีรับฟังได้ว่าโจทก์ยื่นใบลากิจล่วงหน้าตามระเบียบและภายหลังเมื่อโจทก์ยื่นใบลาป่วยแทนใบลากิจที่จำเลยมีคำสั่งไม่อนุญาตไปก่อนแล้ว จำเลยจึงเกษียนคำสั่งคาดโทษโจทก์ว่า เป็นการลาเท็จเพื่อหาเหตุตั้งคณะกรรมการสอบสวนการลาของโจทก์ อันเป็นการดำเนินการหาเหตุลงโทษทางวินัยโจทก์ แม้ภายหลัง อ.ก.ค.ศ. เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 8 จะพิจารณาให้ยกเลิกคำสั่งพิพาทที่ 189/2558 แต่โจทก์ก็ยังไม่ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือนตามปกติ จึงเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์และเป็นการใช้ดุลพินิจที่มิได้อยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผล เป็นการใช้ดุลพินิจตามอำเภอใจ ถือได้ว่าจำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share