คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4548/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา(ก)

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจร และเมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมงานแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกันเพราะพวกจำเลยกระทำผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่ฐานเป็นซ่องโจรด้วย จึงไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงต้องวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210, 213, 340, 340 ตรี, 83, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบกระสุนปืนปลอกกระสุนปืน ลูกระเบิดขว้าง ซองปืน กระเป๋าผ้าร่มและกุญแจมือของกลาง และให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 104,625 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 วรรคหนึ่ง, 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 จำเลยที่ 4 ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 ตรี จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 340 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 83 และ 340 ตรี และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิวรรคหนึ่ง, 72, 72 ทวิ วรรคสอง และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานซ่องโจรจำคุกคนละ 2 ปี ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 1 จำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ14 ปี จำเลยที่ 4 จำคุก 21 ปี ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 21 ปี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับโทษในความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 213 ประกอบด้วยมาตรา 4 วรรคสอง (ที่ถูกคือมาตรา340 วรรคสอง) จำคุกคนละ 14 ปี ฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนจำคุกจำเลยที่ 4 กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีกำหนดคนละ 30 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 44 ปี 12 เดือนคำให้การรับสารภาพชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มีประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามส่วนจำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 20 ปี จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน ริบกระสุนปืน ปลอกกระสุนปืนลูกระเบิดขว้าง ซองปืน กระเป๋าผ้าร่มและกุญแจมือของกลาง ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน104,625 บาท แก่ผู้เสียหายที่ 2
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า ตามวันเวลาและสถานที่ตามฟ้องจำเลยที่ 4กับพวกรวม 6 คน ได้ร่วมกันทำการปล้นเอารถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิชิของผู้เสียหายที่ 1 ไปโดยทุจริตโดยมีและใช้อาวุธปืนสั้นขู่บังคับ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 4 กับพวกอีก 2 คนได้ใช้รถยนต์ที่ปล้นมาจากผู้เสียหายที่ 1 เป็นพาหนะไปทำการปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 โดยมีและใช้อาวุธปืนสั้นขู่บังคับเช่นกัน จากนั้นได้ขับรถพากันหลบหนีโดยนำรถยนต์ไปจอดทิ้งไว้ที่ท่าเรือบ้านบางกุ้ง แล้วลงเรือที่พวกของจำเลยที่ 4 จอดรอรับอยู่ข้ามไปฝั่งประเทศพม่า ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันวางแผนไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 และได้ร่วมปล้นเอารถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ร่วมกันวางแผนไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2และได้ร่วมกันปล้นเอารถยนต์จากผู้เสียหายที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 4 กับพวกใช้เป็นพาหนะไปทำการปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 อีกทอดหนึ่ง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กับพวกรวม 6 คน ร่วมกันวางแผนไปกระทำการปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจรและเมื่อจำเลยที่ 4 กับพวกไปปล้นร้านทองของผู้เสียหายที่ 2 ตามแผนที่ร่วมกันวางไว้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ผู้ร่วมวางแผนย่อมมีความผิดฐานเป็นตัวการปล้นร้านทองร่วมกับจำเลยที่ 4 กับพวกด้วย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 213 และความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เกี่ยวเนื่องกัน กล่าวคือ พวกจำเลยกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรเพื่อจะไปปล้นทรัพย์ของผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยทั้งสี่เป็นซ่องโจรด้วย ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาล เห็นควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสามจะไม่ฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้และเป็นเหตุในลักษณะคดี จึงต้องวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ด้วย
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานเป็นซ่องโจรกับความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานปล้นทรัพย์อันเป็นทบหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งเมื่อหักโทษความผิดฐานเป็นซ่องโจรออกจากโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดลงแก่จำเลยทั้งสี่แล้ว คงจำคุกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 คนละ 18 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 4 มีกำหนด 21 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share