คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4422/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาส่วนแพ่งได้ จะต้องเป็นคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันและคู่ความเดียวกันซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ คู่ความในคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นผู้เสียหายอยู่ในคดีนั้นด้วย เมื่อคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์มีข้อหาว่า อง และจำเลยที่ 1 กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติ จราจรทางบกฯ ซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย ส่วนข้อหาขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส โจทก์ไม่ใช่ผู้รับบาดเจ็บโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาและแม้ศาลในคดีส่วนอาญาจะพิพากษาถึงที่สุดลงโทษ อ. และยกฟ้องจำเลยที่ 1แต่ก็ยกฟ้องเพราะพนักงานอัยการโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1ขับรถด้วยความประมาท และมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงข้อหานี้ข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัย ศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่นำสืบใหม่ในคดีนี้ และฟังว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทด้วยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถเทรลเลอร์บรรทุกรถแทรกเตอร์โดยใบมีดของรถแทรกเตอร์ยื่นออกมานอกตัวรถและล้ำเข้ามาบนผิวจราจรใบมีดได้ปะทะเข้ากับบริเวณตัวรถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์รับประกันภัยจนเป็นเหตุให้พลิกคว่ำได้รับความเสียหาย และเป็นเหตุให้นายทวีปงูทิพย์ เด็กท้ายรถที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับอันตรายสาหัสโจทก์ได้จัดการซ่อมแซมรถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์รับประกันภัยและจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายทวีปเป็นเงินทั้งสิ้น 151,119 บาทโจทก์จึงเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้าง และจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถเทรลเลอร์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การทำนองเดียวกัน และจำเลยที่ 3ฟ้องแย้งว่าเหตุที่รถทั้งสองคันชนกันไม่ได้เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แต่เกิดเพราะความประมาทของนายเอื้อนผู้ขับรถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์รับประกันภัยแต่ฝ่ายเดียวรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับจำเลยที่ 3 รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 ชำระค่าซ่อมให้แก่อู่ซ่อมไปเป็นเงิน 16,934 บาท จำเลยที่ 3 จึงรับช่วงสิทธิจากจำเลยที่ 2 ที่จะเรียกร้องให้โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยใช้ค่าซ่อมให้แก่จำเลยที่ 3 ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้เงินจำนวน16,934 บาท พร้อมดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน90,251.40 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถบรรทุกสิบล้อหมายเลขทะเบียน80-2474 พิษณุโลก ไว้จากนายไพโรจน์ โพธิ์ประพันธ์พงศ์ ผู้เอาประกันภัย จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ขับรถเทรลเลอร์ของจำเลยที่ 2 ไปในทางการที่จ้างโดยจำเลยที่ 2ได้ทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 3 ตามวันเวลาเกิดเหตุนายเอื้อน ห่วงมี ลูกจ้างขับรถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์รับประกันภัยด้วยความประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถเทรลเลอร์ที่จำเลยที่ 1 ขับบรรทุกรถแทรกเตอร์ทำให้นายทวีป งูทิพย์ ซึ่งนั่งไปในรถบรรทุกสิบล้อที่โจทก์รับประกันภัยได้รับอันตรายสาหัส และรถทั้งสองคันได้รับความเสียหาย มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2และที่ 3 ว่า ที่รถเกิดเหตุเฉี่ยวชนกันเพราะจำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ และเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าวคงมีปัญหาวินิจฉัย เพราะที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมของโจทก์ ส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 นั้น จำเลยที่ 3 เรียกร้องค่าเสียหายมีทุนทรัพย์ตามฟ้องแย้งเพียง 16,934 บาท ไม่เกิน20,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 เดิม จำเลยที่ 3 จึงไม่อาจฎีกาในส่วนของฟ้องแย้งต่อศาลฎีกาได้ ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3อ้างว่า ในทางอาญาพนักงานอัยการ จังหวัดพิจิตรฟ้องนายเอื้อนและจำเลยที่ 1 ในข้อหาขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส และทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย และในข้อหาหลบหนีไม่แจ้งเหตุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 78, 157, 160 วรรคสอง ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1028/2528 ของศาลจังหวัดพิจิตร ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีถึงที่สุดว่านายเอื้อนขับรถบรรทุกสิบล้อโดยประมาท และยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในการพิพากษาคดีนี้ในประเด็นที่ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อด้วยหรือไม่ ศาลจำต้องฟังข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีอาญาดังกล่าวนั้น เห็นว่าการที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาส่วนแพ่งได้ จะต้องเป็นคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันและคู่ความเดียวกัน ซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์คู่ความในคดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นผู้เสียหายอยู่ในคดีนั้นด้วย แต่ในคดีอาญาดังกล่าวมีข้อหาว่ากระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกฯซึ่งรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย ส่วนข้อหาขับรถด้วยความประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 โจทก์ไม่ใช่ผู้ได้รับบาดเจ็บ ไม่ใช่ผู้เสียหายตามข้อหาดังกล่าวเช่นเดียวกันเมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญา และศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ขับรถด้วยความประมาทด้วย และมิได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อเท็จจริงข้อหานี้สำหรับจำเลยที่ 1 อีกด้วย ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ ศาลจึงต้องฟังพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบใหม่ในคดีนี้จำเลยที่ 1 จึงเป็นฝ่ายที่ขับรถด้วยความประมาทเลินเล่อมากกว่านายเอื้อน ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น และคู่ความมิได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ไม่ชอบและมีจำนวนไม่เหมาะสมอย่างไร ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์”
พิพากษายืน

Share