แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
เงินสงเคราะห์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์ เป็นเงินที่จ่ายให้ตาม ข้อบังคับของการประปานครหลวง ฉบับที่ 6 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์ และการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง พ.ศ. 2521 แก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับ ฉบับที่ 32 และฉบับที่ 38 ซึ่งข้อ 13 วางระเบียบการให้เงินสงเคราะห์แก่ผู้ปฏิบัติงานไว้หลายประการ เช่น พ้นจากตำแหน่งกรณีสูงอายุ ฯลฯ เป็นต้น มิใช่เป็นเงินที่จ่ายให้ในกรณีเลิกจ้างโดยเฉพาะดังค่าชดเชย ถึงแม้ข้อบังคับข้อ 14 จะกำหนดให้ถือว่าการจ่ายเงินแก่ผู้ปฏิบัติงาน ตามข้อบังคับนี้ เป็นการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน แต่เงินสงเคราะห์ และค่าชดเชยต่างเป็นเงินที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายต่างกัน และมีวัตถุประสงค์ต่างกัน จึงไม่อาจแปลปรับเข้ากันได้ ถึงแม้จำเลย จะได้จ่ายเงินสงเคราะห์ส่วนหนึ่ง และจ่ายเงินเพิ่มให้อีก รวมเท่ากับค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับ ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชย ให้แก่โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานแล้ว แต่การที่จำเลยได้จ่ายเงิน เพิ่มเป็นค่าชดเชยแก่โจทก์แล้วจำนวน 3,528.87 บาท โดยโจทก์มีสิทธิ ได้รับค่าชดเชยทั้งสิ้น 10,200 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชย ให้แก่โจทก์อีก 6,671.13 บาท
ย่อยาว
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ว่าเงินสงเคราะห์ที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ตามข้อบังคับของจำเลยมิใช่ค่าชดเชยนั้น คำว่า “ค่าชดเชย” ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 2 หมายความว่า เงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนอกเหนือจากเงินประเภทอื่นซึ่งนายจ้างตกลงจ่ายให้แก่ลูกจ้าง และเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามประกาศดังกล่าวข้อ 46 ส่วนเงินสงเคราะห์ที่จำเลยจ่ายให้โจทก์เป็นเงินที่จ่ายให้ตามข้อบังคับของการประปานครหลวง ฉบับที่ 6 ว่าด้วยกองทุนสงเคราะห์และการสงเคราะห์ผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวง พ.ศ. 2511 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบังคับฉบับที่ 32 และฉบับที่ 38 ได้แก่เงินที่จำเลยจ่ายสมทบจากรายจ่ายประจำปีในอัตราร้อยละสิบของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่ผู้ปฏิบัติงานได้รับจริงเป็นรายเดือนทุกเดือน และรวบรวมไว้เพื่อจ่ายให้แก่ผู้ปฏิบัติงาน (พนักงานและลูกจ้างประจำ) ของจำเลยที่ต้องพ้นจากตำแหน่งไป และกองทุนสงเคราะห์นี้จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการประปานครหลวง พ.ศ. 2510 มาตรา 48 ซึ่งมีข้อความว่า “ให้การประปานครหลวงจัดให้มีกองทุนสงเคราะห์หรือการสงเคราะห์อื่น ๆ เพื่อสวัสดิการของผู้ปฏิบัติงานในการประปานครหลวงและครอบครัว ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการวางไว้” และตามข้อบังคับของจำเลย ข้อ 13 วางระเบียบการให้เงินสงเคราะห์แก่ผู้ปฏิบัติงานที่พ้นจากตำแหน่งในกรณีสูงอายุ หย่อนความสามารถ ป่วยเจ็บโดยแพทย์ของประปานครหลวงรับรองว่า ไม่สามารถหรือไม่สมควรทำงานต่อไป หรือการประปานครหลวงให้ออกโดยไม่มีความผิด หรือลาออกโดยไม่มีความผิดใด ๆ โดยได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา และในข้อ 15 ยังกำหนดให้ในกรณีที่ผู้ปฏิบัติงานตายอีกด้วยโดยจ่ายให้แก่ผู้จัดการมรดกหรือทายาทแล้วแต่กรณี เป็นที่เห็นได้ว่ามิใช่เป็นเงินที่จ่ายให้ในกรณีเลิกจ้างโดยเฉพาะดังค่าชดเชย แท้จริงมุ่งประสงค์เพื่อให้สวัสดิการแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งครอบครัวด้วย ถึงแม้ข้อบังคับของจำเลยข้อ 14 จะกำหนดให้ถอว่าการจ่ายเงินแก่ผู้ปฏิบัติงานตามข้อบังคับนี้ เป็นการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงาน แต่เงินสงเคราะห์และค่าชดเชยต่างเป็นเงินที่กำหนดขึ้นโดยกฎหมายต่างกัน และมีวัตถุประสงค์ต่างกัน จึงไม่อาจแปลรับเข้ากันได้ ถึงแม้จำเลยจะได้จ่ายเงินสงเคราะห์ส่วนหนึ่ง และจ่ายเงินเพิ่มให้อีกรวมเท่ากับค่าชดเชยที่โจกท์มีสิทธิได้รับ ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ถูกต้องตามกฎหมายแรงงานแล้ว อย่างไรก็ตามจำเลยได้จ่ายเงินเพิ่มเป็นค่าชดเชยแก่โจทก์จำนวน 3,528 บาท 87 สตางค์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยทั้งสิ้น 10,200 บาท จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์อีก 6,671 บาท 13 สตางค์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์โจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 6,671 บาท 13 สตางค์ แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น”